วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 – 11.30 น. ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา จัดงานแถลงข่าว การถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานนวัตกรรม เรื่อง อุปกรณ์เก็บกักละออง ป้องกันเชื้อโรคจากการทำฟัน เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย ศาสตราจารย์ ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ศาสตราจารย์ ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ผู้บริหารคณะทันตแพทย์ศาสตร์ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วม ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“อุปกรณ์เก็บกักละออง” ลดการกระจายเชื้อโรคจากการทำฟันนี้ เป็นงานวิจัยร่วมกันของ
รองศาสตราจารย์สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์ อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ทพ. สุรัตน์ ลีนะศิริมากุล ซึ่งงานวิจัยนี้จัดทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของทันตแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังควบคุมไม่ได้ เพราะมีโอกาสเกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อระหว่างทำหัตถการ ทำให้การทำงานด้านทันตกรรมมีความเสี่ยง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ซึ่งจุดเด่นในการใช้เป็นอุปกรณ์เก็บกักละอองนี้คือการป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค ช่วยลดการสัมผัสละอองที่ฟุ้งกระจายในขณะปฏิบัติงานได้ถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์ โดยทันตแพทย์สามารถใช้ครอบเฉพาะส่วนจมูกและปากคนไข้ ไม่มีส่วนหูของคนไข้อยู่ในกล่องจึงไม่เกิดเสียงก้อง หรือดังรบกวนคนไข้ และวัสดุที่เป็นปลอกสวมแขนและฐานรอง เป็นวัสดุเดียวกับหน้ากากอนามัย (SMS Fabric) ซึ่งมีคุณสมบัติกันน้ำซึมผ่านแต่อากาศไหลผ่านได้ดี โดยทางนักวิจัยได้มีการทดสอบการไหลของอากาศภายในเครื่องพบว่าอุปกรณ์ตัวนี้สามารถ ทำให้มีอากาศใหม่ที่เข้าไปภายในกล่อง ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 9 ลิตรต่อวินาที จึงมั่นใจได้ว่า ผู้ป่วยจะมีอากาศหายใจ อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องของการทดสอบการต้านทานการหายใจ อุปกรณ์ตัวนี้ตรวจไม่พบแรงต้านการหายใจเลย ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกแม้จะนอนให้ทำฟันอยู่เป็นเวลานานก็จะไม่รู้สึกเหนื่อยแต่อย่างใด
ในด้านของความปลอดภัยในการทำความสะอาดหลังจากทำหัตถการแล้ว รองศาสตราจารย์สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์ นักวิจัย ได้กล่าวว่า ทางทีมนักวิจัยได้มีการออกแบบให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทำการฆ่าเชื้อโดยการพ่นหมอกน้ำยาฆ่าเชื้อ EOW (Electrolyzed Oxidizing Water) โดยต่อเครื่องอุปกรณ์ตัวนี้เข้าไปกับกล่องเก็บกักละอองบริเวณตำแหน่งเดียวกันกับที่ต่อเครื่องดูดอากาศ ซึ่งจากการทดสอบพบว่าตัวน้ำยา EOW มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้มากกว่า 99.99% หลังจากนั้นให้ฉีดพ่นหรือใช้ทิชชู่เปียกที่อาบด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเฉพาะทางทันตกรรมทำความสะอาดอีกหนึ่งรอบจะสามารถฆ่าเชื้อได้ 100% จะช่วยให้การทำงานของทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ปลอดภัยและไม่ได้รับการติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ทางทันตกรรม
ทพ. สุรัตน์ ลีนะศิริมากุล นักวิจัย ได้กล่าวว่า จากการออกแบบและการทำสอบในด้านของ ของความปลอดภัย สมรรถนะในการทำงาน การทำความสะอาดหลังจากการอุปกรณ์แล้ว นับได้ว่า “อุปกรณ์เก็บกักละออง” เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้ทันตแพทย์ และคนไข้ปลอดภัยขึ้น และลดการติดเชื้อจากละอองที่เกิดจากการการทำฟัน โดย“อุปกรณ์เก็บกักละออง”ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางวิศวกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องแรกในโลกที่ทำงานได้เช่นนี้
ซึ่งในการแถลงข่าวในครั้งนี้ ได้มีพิธีลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะผู้ทรงสิทธิ อนุญาตให้ บริษัท ดับบลิว แอนด์ เอช เทค จำกัด เป็นผู้รับอนุญาติให้ใช้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งสามารถนำ “อุปกรณ์เก็บกักละออง” ไปทำการผลิตและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้รับอนุญาตได้ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยผู้ลงนามในสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์ อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทพ.สุรัตน์ ลีนะศิริมากุล นักวิจัย และ คุณสุวัธชัย เดชาพงศา กรรมการบริษัท ดับบลิว แอนด์ เอช เทค จำกัด โดยได้มีการสาธิตการใช้อุปกรณ์เก็บกักละอองอีกด้วย

Related posts
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.