ทั่วไทย-“ศักดิ์สยาม” เร่งเครื่องคมนาคม “บก-น้ำ-ราง-อากาศ” ประเดิมบิ๊กโปรเจ็กต์ “Land Bridge” ดันไทยสู่ฮับการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน

พร้อมเดินเครื่องมอเตอร์เวย์ “โคราช-อุบล” & “หนองคาย-แหลมฉบัง” พ่วงวงแหวนรอบที่ 3 คาดเห็นผลรูปธรรมภายในปี 65 พร้อมเผยความพร้อม 100% คมนาคมรับ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ระบุแอร์ไลน์จอง Slot แล้วกว่า 80-90% หวังไทยกลับมาเป็นเสือเศรษฐกิจ
.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทย ด้วยการลงทุน” วันนี้ (23 มิ.ย. 2564) ว่า กระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำนั้น ไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน โดยเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม ต้องการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทุกโหมดการขนส่งครบมิติ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อโครงการให้สอดรับกับการศึกษาโครงการ MR-MAP เพื่อพัฒนาโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบด้วยถนน และรถไฟ
.
สำหรับ MR-MAP นั้น จะเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยเล็งเห็นถึงการพัฒนาเชิงบูรณาการ และลดผลกระทบต่อประชาชนจากการเวนคืนที่ดินไปพร้อมกันเบื้องต้นจะนำร่อง 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,620 กิโลเมตร (กม.) ได้แก่ 1.เส้นทางเชียงราย (ด่านเชียงของ)-สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) ระยะทาง 1,680 กม. 2.เส้นทางหนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กม. และ 3.เส้นทางบึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ)-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) ระยะทาง 470 กม. ขณะที่ อีก 6 แนวเส้นทางที่เหลือ ระยะทางรวม 2,380 กม. นั้น จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
.
ขณะที่ ในส่วนของทางน้ำนั้น ซึ่งยอมรับว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีทะเลอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งการเชื่อมต่อการเดินทางกับมหาสมุทรอินเดีย และเชื่อมต่อโลจิสติกส์จากภาคใต้สู่ภาคกลาง โดยใช้ต้นแบบของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) เชื่อมจากท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง (ชุมพร-ระนอง) เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่ง และจะเป็นเส้นทางการขนส่งที่สั้นและตรงที่สุด ไม่ต้องผ่านไปยังช่องแคบมะละกา โดยเส้นทางดังกล่าว จะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญในภูมิภาคด้วย
.
ในส่วนของโครงการ Land bridge ยังสามารถเชื่อมให้ประเทศไทยเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือของโลก รวมถึงเพื่อเชื่อมฐานการผลิตจาก EEC เข้าสู่ Land bridge เพื่อส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ทั้งนี้ โครงการ Land bridge จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต สำหรับประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยจะเชื่อมโยงประเทศไทยกับเส้นทางการค้าของเอเชียและของโลก
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันได้เบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือ 50% ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในโครงการ Land bridge ที่จะต้องเร่งดำเนินการเป็นโครงการแรก ตามด้วยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี และเส้นหนองคาย-แหลมฉบัง รวมถึงโครงการวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าเส้นทางใหม่ ลดปัญหาการขนส่งผ่านพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2565 จะเห็นรูปแบบที่ชัดเจน
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในส่วนของนโยบาย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใน 120 วัน โดยจะนำร่องที่ จ.ภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 เป็นที่แรก (ภูเก็ตแซนดบ็อกซ์) ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด มีสายการบินจองตารางการบิน (Slot) แล้วประมาณ 80-90% โดยกระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อม 100% ในทุกระบบการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ อย่างไรก็ตาม เราต้องมีความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลที่จะดำเนินการต่อไป
.
“ขอให้มั่นใจว่า หากประเทศไทยดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ได้ตามแผนประเทศไทยจะกลับไปเป็นเสือเศรษฐกิจของอาเซียนได้อย่างแน่นอน” นายศักดิ์สยาม กล่าว

เศรษฐกิจ, ในประเทศ

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.