นครพนม(ชมคลิป)พัฒนาชุมชนสร้าง โคก หนอง นา โมเดล การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อชุมชน


วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ที่จังหวัดนครพนม นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า โคก หนอง นา โมเดล เป็นการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล โครงการนี้เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการนำเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีหลากหลายอย่าง ทั้งการบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการน้ำ การดูแลป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านทรงมาต่อยอดประยุกต์ให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเวลาที่พี่น้องเกษตรกรทำเกษตรกรรม จะต้องมีโคกเพื่อปลูกพืชผักต่างๆ มีหนองเพื่อเก็บน้ำและเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ กุ้ง หอยปู ปลา และที่สำคัญที่สุดชาวบ้านเราต้องมีนาในการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเอง และเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ โครงการนี้ก็คือทำโคก ทำหนอง ทำนา ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน สำหรับจังหวัดนครพนมนั้นมีงบประมาณอยู่ 2 โครงการด้วยกัน งบแรกก็คืองบเงินกู้ มีจำนวนทั้งหมด 81 แปลง ซึ่งตอนนี้กิจกรรมแรกคือการฝึกอบรมตามหลักกสิกรรมธรรมชาติเรียบร้อยไปหมดแล้ว หลังจากนั้นก็มาปรับพื้นที่แปลงนาให้มีโคก มีหนอง มีนา เสร็จแล้วก็จะมีกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ซึ่งเป็นการร่วมกันในเรื่องของการมาช่วยกันปลูกพืช ในเรื่องของการห่มดิน เรื่องของการปักดำต่าง ๆ ให้พี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมาช่วยกันเอามื้อสามัคคีกัน ส่วนงบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงก็มีจำนวน 115 หมู่บ้าน กระจายไปทั้ง 12 อำเภอ เมื่อเราพัฒนาพื้นที่ให้มีโคก มีหนอง มีนา เสร็จแล้วก็จะให้พี่น้องเกษตรกรเข้ามาร่วมกันเอามื้อสามัคคี เป็นสร้างการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือเราต้องการให้พี่น้องประชาชนพึ่งตนเองได้ อยู่ได้ในพื้นที่ของตนเองในการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่าไม้ ในพื้นที่นี้ก็จะมีการปลูกป่า 5 ระดับด้วยกัน คือ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน ไม้กินหัว เพื่อให้พอกินก่อน ตามมาด้วยพออยู่ พอใช้ และพอร่มเย็น สุดท้ายนี้ก็จะมีการเข้าสู่ขั้นพัฒนาต่อไปคือการแบ่งส่วนหนึ่งนำไปทำบุญทำทาน แบ่งปันกัน เก็บไว้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ขายและสร้างเครือข่าย ซึ่งจะกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าในการอุ้มชูตนเองได้ ถ้าทุกครัวเรือนสามารถที่จะมีโคก มีหนอง มีนาได้ พื้นที่เก็บน้ำครัวเรือนหนึ่งมีประมาณ 4,000 ลูกบาศก์เมตร ถ้า 100 ครัวเรือนก็จะเป็น 400,000 ลูกบาศก์เมตร ถ้า 1,000 ครัวเรือนก็จะกลายเป็น 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็สามารถที่จะขยายพื้นที่เก็บน้ำไว้ใช้แทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลไปลงน้ำโขง ก็จะทำให้ทุกคนมีน้ำใช้เพื่อการเกษตร คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนก็จะดีขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือสังคมก็จะเกื้อกูลกัน ทุกคนมีความมั่นคงด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม มีภูมิคุ้มกันที่ดี
ด้านนายชัยธวัช บุญมั่งมี เกษตรตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ เปิดเผยว่า แต่ก่อนพื้นที่ของตนเองเป็นนาอย่างเดียวจึงเปลี่ยนมาเข้าโครงการ 3 ไร่ ซึ่งจากการที่ได้เข้าร่วมอบรมแล้วมองเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ มองว่ามีแต่สิ่งดี ๆ จึงยากทำ เมื่อมาลงมือปฏิบัติได้ 1 เดือน ก็เริ่มเห็นความแตกต่าง คือมีน้ำเพิ่มมากขึ้น พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ในบ่อมีน้ำตลอดทำให้อยากที่จะเพาะปลูกพืชใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยตั้งใจว่าจะเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังสังเกตเห็นว่าเมื่อทำโครงการพื้นที่ก็เริ่มมีสัตว์น้ำมาอาศัยอยู่ด้วยเพิ่มเติมจากที่เลี้ยง ตอนนี้ก็พยายามศึกษาเพิ่มเติมไปเรื่อย ตรงไหนขาด ตรงไหนต้องปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อให้ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เราจะเห็นว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโคก หนอง นา แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกษตรกรมั่นใจในความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วทุกท่านพร้อมหรือยังที่จะรับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้

ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครพนม

คลิป, เกษตร

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.