ขอนแก่น(ชมคลิป)ส.ส.ขอนแก่น และเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึง ครม.ผ่าน ผวจ.ขอนแก่น ให้ชลอและหยุดการเข้าร่วม CPTPP.

ส.ส.ขอนแก่น เขต 1 พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดขอนแก่นร่วมกันยื่นหนังสือต่อ ผวจ.ขอนแก่น และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าร่วม CPTPP.(Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือ ความ
ตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก)

ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายฐิตินันท์ แสงนาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย เขต 1
จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง และตลาดเขียวขอนแก่น ได้ยื่นหนังสือต่อ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และยื่นหนังสือต่อนายชัยยะเจตน์ จันทร์อักษร
พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น ถึงผลเสียจากการเข้าร่วม CPTPP. เพื่อส่งต่อข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคฟื้นแปซิฟิก โดยขอให้ตระหนักในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ หากมีการเดินหน้าสู่กระบวนการเจรจา มองประโยชน์ของประชาชนมากกว่าประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ

นายฐิตินันท์ แสงนาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย เขต 1 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตนเองเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการในการพิจารณาการเข้าร่วมCPTPP แบ่งเป็น 3 คณะคือ ด้านการค้าการลงทุน ด้านเกษตรกรรม-พันธุ์พืชและด้านสุขภาพ-สาธารณสุข มีการเชิญอธิบดีจากกรมต่างๆ มาให้ข้อมูล ผลสรุปจาก
การศึกษาคือ ประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วม CPTPP ให้มีการศึกษาโดยรอบคอบมากกว่านี้ ในความคิดเห็นของตน ประเทศไทยยังไม่ควรเข้าร่วม เพราะทุกด้านจะเกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น การผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นของบริษัท ให้ประเทศสมาชิกนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้แล้วอาจจะมีเชื้อโรคติดมาด้วยและอาจจะเป็นขยะทางอิเล็กทรอนิกส์ จากนี้จะได้นำข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชนเสนอต่อคระรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนที่มายื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อต้องการให้ส่งต่อถึงคณะรัฐมนตรีคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ชะลอการเข้าร่วม CPTPP เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเสียประโยชน์มากกว่า เช่น ความมั่นคงทางดานอาหาร เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากนายทุน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นสิ่งที่ตามคือราคาอาหารจะแพงขึ้น ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้นทั้งๆ ที่รายได้เท่าเดิม ทางด้านการแพทย์สาธารณสุข จะทำให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาเองไม่ได้ เพราะติดลิขสิทธิ์ต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศมากขึ้น
เนื่องจากนายทุนผูกขาด มาตรการ CLใช้ไม่ได้ เปิดให้ต่างชาตินำเครื่องมือแพทย์มือสองมาใช้ส่งผลต่อการรักษาที่ผิดพลาด กระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพ ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ เสี่ยงต่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ลดภาษีนำเข้าแอลกอฮอล์ บุหรี่ส่งผลให้เข้าถึงอบายมุขมากขึ้น
เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องที่มีการคุ้มครองการลงทุน เช่น กรณีเหมืองทองอัครา จ.พิจิตร รัฐบาลสั่งปิดเหมืองเมื่อต้นปี 2560 เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ ต่อมาบริษัทเหมืองทองยื่นฟ้องรัฐบาลไทยต่ออนุญาโตตุลาการให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 750 ล้านดอลล่าสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 30,000
ล้านบาท ทางด้านเศรษฐกิจนักลงทุนต่างชาติจะได้เปรียบเพราะสกุลเงินต่าง ประเทศมีกำลังซื้อมากกว่า ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งที่คนไทยจะได้รับผลกระทบในอนาคต
ดังนั้น ไม่ควรเข้าร่วม CPTPP ไม่ทำให้ประเทศล้าหลังและตกขบวน หากเข้าร่วมยิ่งนำพาประเทศสู่หายนะและเป็นการขายชาติและคนไทยจะได้เช่าแผ่นดินของตนอยู่อาศัย ต้องหยุด CPTPP นี้

ไพฑูรย์ พรหมเทศ ทีมข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ จ.ขอนแก่น