วันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่บ้านนากระเสริม ตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย พานิชย์จังหวัดนครพนม ประมงจังหวัดนครพนม นายอำเภอท่าอุเทนและผู้จัดการแม็คโค สาขานครพนม ลงพื้นที่ติดตามและให้การช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้จำหน่ายได้น้อยลง แม้ก่อนหน้านี้ทางหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนต่างได้ร่วมแรงร่วมใจกันเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งการขอให้หน่วยงานราชการต่างช่วยซื้อ การหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมให้ การตั้งจุดจำหน่ายด้านข้างศาลากลาง การออกเร่ขายตามชุมชนต่าง ๆ ขณะที่ทางห้างสรรพพสินค้าแม็คโคร สาขานครพนม ก็ได้มีการรับไปจำหน่ายช่วยเหลือวันละ 200 กิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันมียอดรวมกว่า 4.4 ตันแล้ว แต่อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังมีปลานิลในกระชังเหลืออยู่อีกจำนวน 78 ตัน ที่รอการจำหน่าย
โดยในวันนี้ทุกคนได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวความคิด และหาทางออกร่วมกันเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไปอย่างทันท่วงที ซึ่งในระยะสั้นนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมได้มอบหมายให้ประมงจังหวัดนครพนม ประสานทางโรงเรียน หน่วยงานราชการที่มีการทำโรงเลี้ยงอาหารกลางวันช่วยอุดหนุนไปประกอบอาหาร ให้ประสานท้องถิ่นในการออกเร่จำหน่ายปลานิลตามชุมชนต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนของพานิชย์จังหวัดนครพนมก็ให้ประสานจังหวัดข้างเคียงในการหาตลาดรับซื้อ ประสานเทศบาลเมืองนครพนมเพื่อขอใช้สถานที่เปิดบูธจำหน่ายบริเวณถนนอภิบาลบัญชา ข้างสวนชมโขง รวมถึงให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังมองหาทำเลที่เหมาะสมเพื่อตั้งเต้นท์จำหน่ายเพิ่มเติมโดยให้แจ้งพานิชย์จังหวัดประสานผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ในการขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ยังเตรียมไปจำหน่ายที่บริเวณบ้านชนเผ่าที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งคาดว่าจะมีทั้งที่เป็นปลาสดและปลาเผา ขณะที่ผู้จัดการแม็คโค สาขานครพนมได้แจ้งว่าทางห้างยินดีรับซื้อเพิ่มเติมขึ้นจากที่เป็นอยู่อีก เพราะปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่สามารถควบคุมได้ มีร้านอาหารเริ่มเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น ออร์เดอร์ต่าง ๆ ก็เริ่มทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังได้มีการพูดคุยกับห้างแม็คโครสาขาข้างเคียงในจังหวัดสกลกลนครและจังหวัดอุดรธานี ก็ยินดีที่จะรับปลานิลไปจำหน่ายช่วยเช่นเดียวกัน ในส่วนของระยะยาวนั้นทางกลุ่มเกษตรกรได้มีการวางแผนจัดตั้งเป็นเกษตรแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชัง ซึ่งจะมีการวางแผนการผลิตด้วยการเลี้ยงไม่ให้ปลาเจริญเติบโตเต็มวัยพร้อมกันในครั้งเดียวเหมือนปัจจุบัน แต่จะให้ผลผลิตทยอยออกสู่ท้องตลาด รวมถึงเตรียมแผนการแปรรูปเป็นปลาร้าเพื่อส่งจำหน่ายแทนการจำหน่ายปลานิลสด ซึ่งในส่วนนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมขอให้เตรียมตัวแทนกลุ่มไว้เมื่อมีโอกาสจะส่งไปเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในโซนภาคกลาง เพื่อให้เข้าใจถึงความแตกต่างในเรื่องรสชาติและกรรมวิธีการผลิต ซึ่งจะทำให้กลุ่มสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ประทีป วฃิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าว จังหวัดนครพนม