ขอนแก่น(ชมคลิป)รองพ่อเมืองหมอแคนทำสมุนไพรไทยรักษาโรคลัมปี สกิน

จากการระบาดโรคลัมปี สกิน ในวัวที่กำลังแพร่เชื้อสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรผู้เลี้ยงวัวเป็นบริเวณกว้างใน 3 จังหวัดในภาคอีสาน ล่าสุดรองพ่อเมืองหมอแคนได้นำภูมิปัญญาชาวบ้านในการรักษาโรคงูสวัด ที่เกิดกับคนทำให้ผิวหนังวัวที่เกิดเป็นตุ่มยุบและหายเป็นปกติภายใน 7 วัน

ที่คอกเลี้ยงวัวของนายอุบล สนิทนิตย์ ผู้ใหญ่บ้านหนองหว้า หมู่ที่ 13 ต.ทรายมูล อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอน้ำพอง นายนาวา ดวงโนแสน กำนันตำบลทรายมูล และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอน้ำพองเข้าให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี สกิน โดยส่งผลให้วัวที่ติดเชื้อมีตุ่มพองตามผิวหนัง แล้วแตกจนเป็นหนองติดเชื้อ ซึ่งพาหะที่เชื้อคือ แมลงดูดเลือดทั่วไป

นายสุเทพ มณีโชติ รอง ผวจ.ขอนแก่น เผยว่า จากการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในจังหวัดขอนแก่น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว เบื้องต้นได้ส่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ระบาดของโรค ด้วยการแนะนำให้ดูแลคอกสัตว์ให้สะอาด ปราศจากแมลงดูดเลือด ทำการพ่นยาฆ่าเชื้อ พ่นหมอกควันกำจัดแมลงที่เป็นพาหะนำโรค

ขณะเดียวกันทาง รอง ผวจ.ขอนแก่น ได้เผยต่ออีกว่า โรคลัมปี สกิน เกิดจากไวรัส ที่ทำให้เกิดเป็นตุ่ม นายเข้าตุ่มจะแตกเป็นแผลทำให้แมลงบินมาตอมติดเชื้อ และมีอาการเจ็บเข้ากระดูก จนทำให้วัวเป็นไข้ มีอาการซึม ไม่กินหญ้า จึงได้ทดลองนำสมุนไพรจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่รักษาไข้งูสวัดในคน โดยการนำรังปลวกที่ขึ้นตามต้นไม้ มาเผาไฟให้จนเป็นเถ้า จากนั้นนำน้ำข้าวมาผสม ในอัตราส่วน 1 กิโลกรัม ต่อน้ำข้าว 3 ลิตร ทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นนำไปทาที่ตุ่ม หรือแผล ที่วัวที่ติดเชื้อ ระวังอย่าให้วัวโดนน้ำ หรือตากฝน

ซึ่งปริมาณการใช้ยาก็ขึ้นกับจำนวนตุ่มตามตัววัว ให้ทา 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น โดยจากการทดลองที่คอกของนายสุวิทย์ กาฬสินธุ์ กำนันตำบลภูเหล็ก อำเภอบ้านไผ่ ที่เลี้ยงวัวจำนวน 60 ตัว ใช้ยาแผนไทยสูตรโบราณ ฆ่าเชื้องูสวัดในวัว ใช้ระยะเวลา 7 วัน ตุ่มที่เกิดขึ้นตามผิวหนังแห้งลง และหายสนิทวัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเป็นปลิดทิ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเผยในที่สุด

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (LSD) ในจังหวัดขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นมีประชากรโคเนื้อจำนวน 234,480 ตัว โคนม จำนวน 38,570 ตัว และกระบือ จำนวน 39,081 ตัว พบการระบาดในโคเนื้อ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่อำเภอบ้านฝาง รวมพบการระบาดในพื้นที่ทั้งสิ้นจำนวน 25 อำเภอ 211 ตำบล จำนวน 500 หมู่บ้าน (ยกเว้นอำเภอหนองนาคำยังไม่มีรายงานการพบโรค) จำนวนสัตว์ป่วยทั้งหมด 2,588 ตัว ได้แก่ โคเนื้อ จำนวน 2,485 ตัว โคนม จำนวน 75 ตัว และกระบือ จำนวน 28 ตัว ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคลัมปี สกิน โดยการรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยแก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น จำนวน 1,382 ราย ทำการรักษา สัตว์ป่วยทั้งหมด 2,588 ตัว ได้แก่ โคเนื้อ จำนวน 2,485 ตัว โคนม จำนวน 75 ตัว และกระบือ จำนวน 28 ตัว จำนวนสัตว์ป่วยตายทั้งหมด 95 ตัว ได้แก่ โคเนื้อ จำนวน 93 ตัว และกระบือ จำนวน 2 ตัว นอกจากนี้ได้ดำเนินการหยดยาป้องกันแมลง พ่นยากำจัดแมลง พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แจกยากำจัดแมลงแก่เกษตรกร รวมทั้งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคลัมปี สกิน และการควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น 12,463 ราย