ขอนแก่น(ชมคลิป)ตำรวจภูธรภาค4 และ สภ.น้ำพอง ร่วมจัดทำ ‘สำโรงโมเดล’ แก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนแบบยั่งยืน

ที่ศาลาประชาคมบ้านสำโรง ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น พล.ต.ต.สหภูมิ สง่าเมือง รองผู้บัญชาการตำรวจภาค 4 เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ และลงนาม MOU ชุมชนยั่งยืน ระหว่างชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น และส่วนราชการ โดยมี พร้อมด้วยนายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอน้ำพอง พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ ยี่สารพัฒน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรน้ำพอง พ.อ.อ.ชัยณรงค์ กัณหา นายก อบต.บ้านขาม นายประพาส คำพระแย กำนันตำบลบ้านขาม ประชาชนทั้ง 2 หมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรมกว่า200 คน

พันตำรวจเอกพัฒนศักด์  ยี่สารพัฒน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรน้ำพอง กล่าวถึงโครงการฯ ต่อประธานในพิธีเปิดโครงการชุมชนยั่งยืน  เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ  ของสถานีตำรวจภูธรน้ำพอง ว่าสืบเนื่องจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  และ ตำรวจภูธรภาค 4  ได้กำหนดนโยบาย ให้หน่วยงานในสังกัด  ปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ชาติ  ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร  โดยให้ทุกหน่วยมีหน้าที่ในการขับเคลื่อน การดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืน

ปัจจัยที่สำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด  คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  และหน่วยงานราชการ  ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืนนี้  ตำรวจไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังได้  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  ที่จักต้องได้รับความร่วมมือ  และการทำงานเชิงบูรณาการจากทุกองค์กรในพื้นที่   เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด  อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่  ยุทธศาสตร์แนวทางดำเนินงาน  “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

ทั้งนี้สถานีตำรวจภูธรน้ำพอง  ได้ตระหนักถึงปัญหา  และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด  จึงได้ดำเนินการ  “โครงการชุมชนยั่งยืน ณ บ้านสำโรง หมู่ที่ 11 และ หมู่ที่12 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด  มีผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา  และต้องได้รับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านโดยเร่งด่วน  การปฏิบัติงานโครงการโดยชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน  จะเข้ามาดำเนินงานตามกระบวนการ ในหมู่บ้านสำโรง ตลอดระยะเวลา 3 เดือน

โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีความรู้ ความเข้าใจในการเฝ้าระวัง ป้องกัน การแพร่ระบาด  และแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืน 2. เพื่อใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยน  เรียนรู้ ริเริ่มสร้างสรรค์  สร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวัง  สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและชุมชน  ในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด 3. ทำให้หมู่บ้านไม่มีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด  เป็นหมู่บ้าน และประชาชน ปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน 4.เพื่อให้เกิดกระบวนการป้องกัน แก้ไข  การบำบัดยาเสพติด  โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และสร้างรูปแบบการดำเนินงานชุมชนเข้มแข็ง  ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ประกอบกับให้ประชาชนได้ทราบ  และเห็นถึงโทษ   และพิษภัยของยาเสพติด  การป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด  เพื่อหยุดยั้งและลดระดับ  การขยายตัวของปัญหายาเสพติดในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อให้เป็นหมู่บ้านปลอดภัยจากยาเสพติด แบบยั่งยืน ต่อไป