กาฬสินธุ์(ชมคลิป)ฆ่าหมูยกคอก 38 ตัวติดเชื้อเพิร์ส


ฆ่ายกคอก สุกร 38 ตัว หลังติดเชื้อเพิร์ส ปศุสัตว์อำเภอสหัสขันธ์ เตือนเกษตรกรให้เลือกซื้อพันธุ์สุกรที่ได้มาตรฐาน ถูกกฎหมาย พร้อมเปิดให้คำปรึกษาสำหรับเกษตรกรที่สนใจ
นายตระกูล หนูนิล นายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วย นายสุรพล เกิดศักดิ์ ปศุวัตว์อำเภอสหัสขันธ์ นำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าฉีดยาเพื่อทำลายสุกรในฟาร์มแห่งหนึ่งในเขตตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังตรวจพบลูกสุกรอายุ 2 เดือน ติดเชื้อ PRRS หรือเพิร์ส ทั้งคอก จำนวน 38 ตัว และดำเนินการสอบสวนโรคและป้องการการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วน
สำหรับการพบเชื้อเพิร์สในหมูรายแรกของอำเภอสหัสขันธ์ เป็นเกษตรกรรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นโดยมีการติดต่อซื้อขายสุกรมาจากต่างจังหวัด เบื้องต้นนำ 50 ตัว ซึ่งทำการเลี้ยงมาประมาณ 20 วัน ระหว่างนั้นสุกรมีอาการป่วย ไอ และทยอยตายวันละตัวสองตัว จนเริ่มผิดสังเกต จึงได้เข้าแจ้งไปยังปศุสัตว์อำเภอสหัสขันธ์ และเก็บตัวอย่างส่งตรวจจนพบว่าสุกรติดเชื้อไวรัส PRRS หรือเพิร์ส ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการยับยั้งการเลี้ยงสุกรต่อเพื่อกำจัดเชื้อโดยเร็ว
นายสุรพล เกิดศักดิ์ ปศุสัตว์ อ.สหัสขันธ์ กล่าวว่า เมื่อมีการตรวจพบการติดเชื้อเพิร์ส หรือ PRRS สิ่งที่ต้องดำเนินการคือยับยั้งการแพร่เชื้อโดยทางสำนักงานปศุสัตว์ได้ประสานงานไปยังปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเข้ามาดำเนินการโดยขั้นตอนแรกคือการฉีดยาให้กับสุกร เมื่อตายแล้วจากนั้นก็จะเคลื่อนย้ายไปฝังกลบ ที่จะต้องขุดหลุมลึกประมาณ 1 เมตร ภายในหลุมจะต้องเทยาฆ่าเชื้อซ้ำอีกรอบก่อนจะฝังกลบ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่าเกษตรกรเป็นรายใหม่ ยังไม่ลงทะเบียน ไม่มีประสบการณ์การเลี้ยงสุกร ซึ่งจากนี้ไปก็จะเร่งทำความเข้าใจให้ผู้สนใจต่อไป โดยในรายนี้ได้ทำลายสุกรยกคอกทั้งหมด 38 ตัว โดยทางเจ้าหน้าที่ยังได้ไปสำรวจหลุมฝังซากสุกรที่ตายไปอีก 12 ตัว เพื่อลงบันทึกเป็นข้อมูลไว้
ปศุสัตว์ อ.สหัสขันธ์ กล่าวอีกว่า การเคลื่อนย้ายสัตว์ จะต้องมีใบอนุญาตใบรับเป็นรองจากปศุสัตว์ ถ้าหากเกษตรกรสนใจสามารถเข้ามาสอบถามรายละเอียด ส่วนที่เกิดขึ้นถือเป็นรายแรกที่ลักลอบเคลื่อนย้ายมาในพื้นที่ โดยเป็นสุกรมาจากต่างจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้อเพิร์ส หรือ PRRD และมีการเผยแพร่ทำการตลาดในออนไลน์ ซึ่งเกษตรกรจะต้องตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลให้ดีก่อนจะสั่งซื้อพันธุ์สุกร อย่างรายนี้ต้องทำลายยกคอกเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อและเกิดอันตรายในพื้นที่หากมีการเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่าง ๆ