เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 พ.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบวัวของเกษตรกรป่วยเป็นโรคระบาดเป็นจำนวนมาก ที่บ้านแกงเลี้ยว หมู่ที่ 6 ต.หนองใหญ่ อ.เมืองจันทร์ จ.สรีสะเกษ จึงรีบเดินทางไปตรวจสอบ พร้อมด้วย นายเอกอมร มะโนรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองใหญ่ และนักวิชาการเกษตร สำนักงานเทศบาลตำบลหนองใหญ่ เมื่อไปถึงพบ นางอรุณศรี จันทะแจ่ม อายุ 67 ปี เกษตรกรชาวบ้านแกงเลี้ยว หมู่ที่ 6 ต.หนองใหญ่ กำลังเลี้ยงลูกวัว อายุ 5 เดือน ที่ป่วยเป็นโรค ลักษณะคล้ายเป็นโรคผิวหนัง เป็นจุดทั่วทั้งลำตัว และมีน้ำลายยืดเป็นฟอง ขาทั้ง 4 ข้างอ่อนแรง ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ
นางอรุณศรี เล่าว่า ตนเลี้ยงวัวทั้งหมด 11 ตัว เป็นพันธุ์ซาโลเล่ ลูกผสม และป่วยเป็นโรคลักษณะเดียวกันนี้ตายไปแล้ว 1 ตัว และอาการหนักอีก 2 ตัว ซึ่งอาการแรกๆจะขึ้นเป็นตุ่มและลุกลามไปทั่วลำตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งตนไม่เคยพบเจอโรคแบบนี้มาก่อน คิดเป็นเป็นตุ่มไม่นานก็คงหายเป็นปกติ กระทั่งลูกวัวตายไป 1 ตัว และมีการระบาดลุกลามไปยังวัวตัวอื่นๆ จึงรู้สึกตกใจและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก ไม่รู้จะช่วยเหลือได้อย่างไร
ขณะที่ นายเอกอมร มะโนรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองใหญ่ ได้นำเจ้าหน้าที่นักวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกับชาวบ้านและให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยขณะนี้ตนได้รับรายงานว่ามีวัวติดเชื้อเป็นโรคระบาดลักษณะเดียวกันนี้แล้วจำนวน 4 หมู่บ้าน รวมจำนวน 11 ตัว และตายแล้ว 1 ตัว และมีการระบาดอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วัน เบื้องต้นตนได้ให้นักวิชาการเกษตร ฉีดยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ ยาแก้แพ้ และยาลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย และจะได้เร่งประสานรายงานไปยัง นายอำเภอเมืองจันทร์ และปศุสัตว์อำเภอเมืองจันทร์ เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ด้าน นายนัทธ์เวโรจน์ บูชาพัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า โรคดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “โรคลัมปี สกิน” มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุ มีลักษณะอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย อัตราการตายน้อยมาก โรคนี้มีแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด ริ้น เหลือบ ไร ยุง เป็นพาหะที่สำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรงผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรก โดยจะพบเชื้อไวรัสในเลือดสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเฉลี่ยพบได้ประมาณ 7-21 วัน หลังติดเชื้อ
ทั้งนี้ โรคลัมปี สกิน ไม่มียารักษาโดยตรงทำได้เพียงรักษาตามอาการ การป้องกันโรคลัมปี สกิน คือ การป้องกันแมลงดูดเลือดหรือลดโอกาสการติดเชื้อได้ด้วยการกำจัดแมลงโดยใช้สารเคมีแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นให้สัตว์ทุกตัวในฝูง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่งไม่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะรวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในพื้นที่โดยรอบ กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำ หรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ รวมทั้งการกางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด ทั้งนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการเตรียมความพร้อมแนวทางการควบคุมโรคดังกล่าวไว้แล้ว
อย่างไรก็ตามโรคนี้เริ่มระบาดในเอเชีย ตั้งแต่ปี 2562 ในจีนแผ่นดินใหญ่ บังกลาเทศและอินเดีย หลังจากนั้น ในปี 2563 พบระบาดในภูฏาน เนปาน ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนามและพม่า ขณะที่ ประเทศไทย ได้มีการติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศและเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา.
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน

Related posts
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.