สำนักงานชลประทานที่ 6 (ลุ่มน้ำชีตอนบน-ตอนกลาง) สำนักงานชลประทานที่ 7 (ลุ่มน้ำชีตอนล่าง) และสำนักงานชลประทานที่ 8 (ลุ่มน้ำมูล) ร่วมประชุมวางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูลตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ วางแนวทางให้การช่วยเหลือประชาชนหากเกิดอุทกภัยในฤดูฝนที่จะถึงนี้
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ตามที่นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำและรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2564 สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้ร่วมบูรณาการบริหารจัดการลุ่มน้ำชี-มูล ร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 7 และสำนักงานชลประทานที่ 8 โดยการประชุมผ่านระบบ Video Conference ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับใช้ในฤดูฝนนี้และเก็บกักน้ำไวใช้ในฤดูแล้งหน้า รวมถึงเพื่อวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ น้ำหลากในช่วงฤดูฝนนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัดภาคอีสานกลาง ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ , ขอนแก่น , มหาสารคาม , กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งสิ้น 1,109 แห่ง ความจุเก็บกักรวม 5,323 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (5 พ.ค. 64) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,779 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุเก็บกักรวมกัน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบนและตอนกลาง ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกกว่า 3,544 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 67 ของปริมาณความจุรวม ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง และลุ่มน้ำมูล (สำนักงานชลประทานที่ 7,8) ปัจจุบันสถานการณ์น้ำภาพรวมมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังมีพื้นที่ที่สามารถรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีกมาก
ในด้านการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 64 นั้น สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมชลประทาน ด้วยการตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนทั้งหมด 111 แห่งและอาคารชลประทาน 124 แห่ง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือจำนวน 257 รายการ และกระสอบทรายกว่า 12,000 ใบ ไว้ประจำ จุดเสี่ยงพร้อมเข้าช่วยเหลือได้ทันที เร่งรัดให้หน่วยงานเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง 5 กรณี วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ติดตั้งธงสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำ ครอบคลุม 7 ลุ่มน้ำสาขาทั้ง 5 จังหวัด กำหนดจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือหากเกิดน้ำท่วม บริหารจัดการน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (Dynamic Rule Curve) การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูฝน วางแผนใช้อาคารชลประทานบริหารจัดการน้ำและจัดจราจรน้ำชี-มูล รวมถึงกำหนดให้พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำยังเป็นพื้นที่หน่วงน้ำตัดยอดน้ำหลากลงแก้มลิง ที่สำคัญได้นำเทคโนโลยีระบบการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์น้ำ โดยเครือข่ายของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัด มาใช้ ในการติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำ การประสานงาน การประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน และการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ
จากการบูรณาการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างสำนักงานชลประทานที่ 6 ,7 และ 8 ได้ร่วมกันวางแผนเตรียม ความพร้อมรับสถานการณ์ก่อนน้ำมา แผนเชิญเหตุในภาวะฉุกเฉิน และมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือและกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย
ข่าว-ภาพ กัมพล ดวงชิน