ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่แจกของช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 3 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 74 ราย หายป่วยแล้ว 26 ราย
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ที่บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ 11 ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด นายประสิทธิชัย กัลยาสนธิ สาธารณสุขอำเภอยางตลาด นายแพทย์ ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผอ.รพ.สมุทรสงคราม ร่วมกันมอบไข่ไก่ให้ประชาชนครัวเรือนละ 1 แผง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งในพื้นที่ของอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ถือว่าพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดของจังหวัด โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 พ.ค.64 พบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 สะสม จำนวน 31 ราย
ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ 1 เมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน (4 พฤษภาคม 2564) จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ผู้ป่วยเดิม 71 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 74 ราย หายป่วยวันนี้ 4 ราย รวมหายป่วยสะสม 26 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 47 ราย และ เสียชีวิต 1 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 3 รายประกอบด้วยรายที่ 72 เพศชายอายุ 42 ปี เป็นพนักงานรับเหมาติดตั้งโครงข่ายระบบคมนาคม อาศัยอยู่ ม.6 ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี, รายที่ 73 เพศหญิง อายุ 53 ปี อาชีพเกษตรกร และรายที่ 74 เพศชาย อายุ 1 ปี ทั้งสองรายอาศัยอยู่ ม.1 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด
ด้านนางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พื้นที่ ต.ดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 พื้นที่หนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ จึงได้ร่วมกับนายอำเภอยางตลาด สาธารณสุขอำเภอยางตลาด และทุกภาคส่วนในพื้นที่ส่งมอบความห่วงใย โดยการนำสิ่งของ คือไข่ไก่ มามอบให้ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระดับหนึ่ง ซึ่งวันนี้ได้นำไข่ไก่มอบให้กับประชาชนในพื้นที่ ตำบลดอนสมบูรณ์ จำนวนกว่า 500 ครัวเรือน
นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ไม่เข้าไปในสถานที่แออัดอากาศไม่ถ่ายเท ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สแกนไทยชนะหรือหมอชนะ
สำหรับคนที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง และ ที่สัมผัสใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัวที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา ควรสังเกตอาการตนเองที่บ้าน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ถ่ายเหลว ตาแดง ผื่นขึ้น หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก โปรดแจ้งประวัติการสัมผัสกับผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้บุคลากรการแพทย์ทราบเพื่อคัดกรองความเสี่ยงด้วย