เกษตรกรอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังขาย ชื่นชมการบริหารจัดการน้ำที่ดีของอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างประหยัดคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ตำบลโนนราษี อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานมหาสารคาม ความจุเก็บกัก 5.066 ล้าน ลบ.ม. เมื่อสิ้นฤดูฝนที่ผ่านมา อ่างฯ มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 3.36 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุเก็บกัก เป็นน้ำใช้การได้ 2.68 ล้าน ลบ.ม. (53%) จึงได้จัดสรรน้ำเพื่อการปลูกพืชในฤดูแล้งให้เกษตรกร มีแผนการใช้น้ำทุกกิจกรรมรวม 2.68 ล้าน ลบ.ม. ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานประมาณ 1,500 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง จึงได้หยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตร ปัจจุบัน อ่างฯ มีน้ำเหลืออยู่ประมาณ 1.3 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุเก็บกัก คาดว่าน้ำที่เหลืออยู่ จะสามารถสนับสนุนการผลิตน้ำประปาให้กับหมู่บ้านต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้อย่างเพียงพอ จนถึงฤดูฝนที่จะถึงนี้ และยังสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ในช่วงต้นฤดูฝนนี้ ได้อีกด้วย
นายสรายุทธ ช่วยชาติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานมหาสารคาม กล่าวว่าในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านโครงการชลประทานมหาสารคามได้บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแบบบูรณาการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีจากกลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรในพื้นที่ ก่อนที่จะทำการส่งน้ำโครงการฯ มหาสารคามร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำได้ช่วยกันทำความสะอาดคูคลองเพื่อให้การส่งน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในระยะเวลาการส่งน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้ง 110 วัน ได้ประชุมตกลงร่วมกันส่งน้ำตามรอบเวร โดยการส่งน้ำ 7 วันแล้วหยุดส่งน้ำ 10 วัน หมุนเวียนกันไป ให้เกษตรกรช่วยกันตรวจสอบการส่งน้ำให้ทั่วถึงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทำให้ผลการใช้น้ำประหยัดน้ำได้ประมาณ 0.47 ล้าน ลบ.ม. จากแผนการใช้น้ำที่คาดไว้ประมาณ 2.68 ล้าน ลบ.ม. (ผลการใช้น้ำ 2.21 ล้าน ลบ.ม.) สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ข้าวนาปรัง 1,500 ไร่ ได้อย่างทั่วถึง เพียงพอและเป็นธรรม
ด้านนายดารากร ดอกไม้ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาฝนตกน้อยทำให้อ่างฯไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร มาปีนี้ถึงแม้จะมีน้ำไม่มากแต่ก็ทางชลประทานก็ได้จัดสรรมาให้ทำนาปรัง ในช่วงก่อนส่งน้ำก็ได้มีการประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำและตกลงกติกาต่างๆร่วมกัน ซึ่งเกษตรกรก็ได้ทำตามกติกาด้วยดีไม่มีปัญหาในการแย่งน้ำกันเลย ผลผลิตก็เป็นที่น่าพอใจเฉลี่ยแล้วประมาณ 700-800 กิโลกรัม/ไร่ ราคาขายข้าวก็ประมาณกิโลกรัมละ 7-9 บาท ขณะนี้เกษตรกรได้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังไปประมาณ 50 % แล้ว เริ่มทยอยนำไปขาย เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวและแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนทำนาปีในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้
ข่าว-ภาพ กัมพล ดวงชิน