วันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เปิดเผยว่า จากที่จังหวัดนครพนมต้องการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ให้มีปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำนามาปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นแทน เพื่อร่วมกันสร้างพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยจากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ที่มีเกษตรกรของจังหวัดนครพนม ที่เคยไปทำงานในภาคตะวันออกหรือภาคใต้และได้นำพันธุ์ไม้ผลกลับมาปลูกจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งผลผลิตที่ได้ค่อนข้างที่จะดี รสชาติเป็นที่นิยม บางสวนเมื่อผลผลิตออกขายหมดตั้งแต่ยังอยู่หน้าสวนเลย โดยเฉพาะเงาะกับมังคุดเนื่องจากราคาจำหน่ายไม่สูงมาก เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งราคาเงาะจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 – 40 บาท ขณะที่มังคุดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่วนคุณภาพก็ถือว่าค่อนข้างดี มีรสชาติที่หวานกรอบ ผิวแห้ง แตกต่างจากที่อื่นที่เป็นลักษณะฉ่ำน้ำ
ดังนั้นจังหวัดนครพนมจึงได้มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมออกมา โดยหนึ่งในนั้นก็คือกิจกรรมอบรมถ่ายทอดความรู้การปลูกเงาะโรงเรียนและมังคุดตามมาตรฐาน GAP ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมดำเนินการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจ จำนวน 300 คน จาก 12 อำเภอ โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น ให้ได้มีทักษะมีความเข้าใจในการปลูก การดูแลรักษาพันธุ์แบบได้มาตรฐาน GAP และมาตรฐานอินทรีย์ การขยายพันธุ์เงาะและมังคุดที่จะได้รับการส่งเสริมจากโครงการรายละ 7 ต้น ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าน้อยแต่เนื่องจากโครงการต้องการส่งเสริมในลักษณะสาธิตที่ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนในรูปแบบของโคกหนองนา หรือเกษตรแบบผสมผสาน เหมือนเป็นการตั้งไข่ให้เกษตรกร เริ่มจากปริมาณที่น้อย เมื่อมีศักยภาพที่สามารถดูแลรักษาได้อย่างมีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญและชำนาญ จึงขยายผลเพิ่มเติมจากต้นพันธุ์ที่ได้ไปหรือหามาเพิ่มจากส่วนอื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมให้ทุกคนเกิดการรวมกลุ่มในลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ ที่ทุกฝ่ายมาร่วมกันบริหารจัดการ ที่พร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกัน ก้าวไปพร้อมกัน และเมื่อมีปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน ทั้งนี้ทางโครงการจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอลงพื้นที่ออกติดตามความก้าวหน้า พร้อมเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้คำแนะนำ คำปรึกษา เป็นระยะ ๆ