ขอนแก่น-ชป.6 วางแผนเชิงรุกปูพรมอีสานกลาง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เร่งเติมน้ำดิบช่วยประปา

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 6 (SWOC6) ประเมินพื้นที่อีสานกลาง 5 จังหวัด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปา เดินหน้าให้ความช่วยเหลือเร่งเติมน้ำดิบให้ประปา สร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคจนถึงสิ้นฤดูแล้ง

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 6 (SWOC6) ได้ประเมินและตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในพื้นที่อีสานกลาง 5 จังหวัด (ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) ซึ่งมีจำนวนสาขาแม่ข่ายประปาทั้งหมด 22 สาขา 49 หน่วยบริการ 71 สถานีสูบน้ำดิบ ใช้น้ำดิบในเขตชลประทานจำนวน 44 แห่ง และนอกเขตชลประทานจำนวน 27 แห่ง พบว่ามีการประปาฯ 2 สาขาที่ต้องเฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ ได้แก่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาชุมแพ หน่วยบริการอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น (นอกเขตชลประทาน) และการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุวรรณภูมิ หน่วยบริการเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด (ในเขตชลประทาน)

สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้วางมาตรการในการให้ความช่วยเหลือโดยได้ประเมินน้ำต้นทุนของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาชุมแพ หน่วยบริการอ.สีชมพู จ.ขอนแก่น พบว่ามีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบสูง จึงวางแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงฝายกระสอบทรายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำพอง เพื่อยกระดับน้ำดิบบริเวณสถานีสูบน้ำดิบแรงต่ำ ซึ่งขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคฯ ได้ดำเนินการแล้ว ในระยะต่อไปหากปริมาณน้ำดิบยังไม่เพียงพอ อาจจะต้องสูบน้ำหรือระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยลอมไผ่ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของกรมชลประทาน ความจุ 5.6 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 2.5 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 2.3 ล้าน ลบ.ม. โครงการชลประทานขอนแก่นได้วางแผนสำรองน้ำไว้สนับสนุนน้ำดิบสำหรับผลิตประปา โดยการระบายน้ำผ่านห้วยลอมไผ่ ไหลลงห้วยทรายขาว และลงลำน้ำพองท้ายสถานีสูบน้ำดิบ แล้วก่อสร้างฝายทำนบชั่วคราวเก็บกักน้ำ ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชน

สำหรับการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุวรรณภูมิ หน่วยบริการเกษตรวิสัย อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบในระดับปานกลาง คาดว่าปริมาณน้ำดิบที่มีอยู่ในขณะนี้จะสามารถผลิตน้ำประปาได้ถึงวันที่ 6 ก.ค. 64 หากจะให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้ง (31 ก.ค. 64) จะต้องใช้น้ำอีกประมาณ 60,000 ลบ.ม. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างทำนบดิน 2 จุด ให้เป็นแก้มลิง และได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไปสูบน้ำเติมเข้าในแก้มลิง รวมถึงได้ดำเนินการ ขุดลอกแก้มลิงหนองอีดำ ที่อยู่บริเวณเหนือโรงสูบเพื่อให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำดิบไว้ใช้สำหรับการผลิตน้ำประปา

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้กำหนดมาตรการการบริหารจัดการน้ำที่คุ้มค่า เน้นการอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จัดทำแผนเผชิญเหตุและเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ให้พร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เพื่อให้มีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งนี้


งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ สำนักงานชลประทานที่ 6
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 16 มีนาคม 2564

 

ในประเทศ

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.