ศรีสะเกษ-ชาวบ้านโอดครวญ ผอ.เจ้าท่าฯ ย้ายมาใหม่ สั่งปิดแพหาดนางเหงา กระทบวิถีชาวบ้าน-ปิดช่องทางทำกิน ยุคโควิด-19


เมื่อเวลา 09.15 วันที่ 5 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หาดนางเหงา ต.ดูน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 2 พรรคเพื่อไทย ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้านและผู้ประกอบการแพร้านอาหารริมฝั่งแม่น้ำมูล ว่าได้รับผลกระทบจากกรณี สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคอุบลราชธานี มีหนังสือสั่งห้ามใช้แพให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและประชาชน โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่าไม่ได้รับอนุญาตให้จอดแพ ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากหาดนางเหงา เป็นแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ
นายวิญญู สายบุบผา อายุ 45 ปี เจ้าของแพน้องแก้วน้องกาย ประธานชมรมหาดนางเหงา กล่าวว่า แพร้านอาหารที่เปิดให้บริการขณะนี้มีทั้งหมด จำนวน 12 ร้าน มีแพรวมประมาณ 250 หลัง ซึ่งมีการเปิดให้บริการค้าขายอาหารมานานกว่า 20 ปีแล้ว เนื่องจากจุดดังกล่าว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปนิยมมาพักผ่อน เล่นน้ำ คลายร้อน และได้มีการขออนุญาตเสียภาษีทุกปีให้กับ อบต.ดูน และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคอุบลราชธานี แต่มาปีนี้ทางสำนักงานเจ้าท่าฯอ้างว่า มี ผอ.ย้ายมาใหม่ ให้ใช้ระเบียบใหม่ โดยออกหนังสือสั่งให้เจ้าของแพเขียนแบบแพและให้สามัญวิศวกร เซ็นรับรอง ซึ่งต้องเสียเงินจ้างในการรับรองเจ้าละ 12,000 บาท เมื่อนำส่งเอกสารขอยื่นต่อภาษีไปยังสำนักงานเจ้าท่าฯ กลับแจ้งว่าไม่ผ่านและให้กลับมาทำใหม่ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าทำมาหากินโดยสุจริต หาเช้ากินค่ำ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ได้รับผลกระทบทุกแห่ง ตนก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปเสียอีก จึงอยากวอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเพราะไม่อยากอดตาย
ด้าน นายสุรชาติ กล่าวว่า การค้าการขายที่บริเวณจุดท่องเที่ยวหาดนางเหงาแห่งนี้ ไม่ใช่ว่าพ่อค้าแม่ค้าเพิ่งมาขาย มีการค้าขายมายาวนานกว่า 10 ปี และช่วงนี้เป็นจะได้เริ่มขายเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งชาวบ้านก็มีปัญหาได้รับผลกระทบมาโดยตลอด และทำตามนโยบายของทางรัฐบาลทุกอย่าง แล้วจะให้พ่อค้าแม่ค้าเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกเขาจะเอาเงินที่ไหนมาเสีย วันหนึ่งขายได้ไม่มากนัก ตนก็รู้สึกสงสารแม่ค้า ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ตนได้ประสานไปยัง นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ แล้ว เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านและประสานไปยังสำนักงานเจ้าท่าฯ เพื่อหาทางออกไม่กระทบวิถีการทำมาหากินของชาวบ้านต่อไป.


ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน

ในประเทศ

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.