เมื่อไม่นานนี้ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7, นพ.อุดม ภู่วโรดม สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 7, นพ.อุดม อรุณรุ่งศรี ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น, ดร.นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นและผู้
อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7, นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในเขตสุขภาพที่ 7 (4 จังหวัดในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ คือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์) ไปร่วมตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถไปรับบริการได้ทุกที่ โดยมี นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.รพ.สิรินธร จังหวัดขอนแก่น และประธานเครือข่าย
บริการสุขภาพโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น นายประจักษ์ จันทะราช สาธารณสุขอำเภอเมืองขอนแก่น พร้อมด้วย บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. ให้การต้อนรับ และร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายการบริการปฐมภูมิรักษาทุกที่ ไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกัน ได้แก่ 1.การดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางด้วยทีมหมอ 3 คน 2.การใช้กัญชาทางการแพทย์และการขับเคลื่อนการใช้กัญชาใน
หน่วยบริการปฐมภูมิ และ 3.หมอครอบครัวสิรินธรฯ
นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2563 ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอเพื่อ “ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข กรณีผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถไปรับบริการได้ทุกที่นั้น สำหรับนโยบายบริการปฐมภูมิรักษาทุกที่
กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายสำคัญด้านสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 “ต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน” จำนวน 4 ข้อ คือ 1) การรับบริการกับหมอครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ 2) ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว 3) โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่มีความพร้อม 4) การย้ายหน่วยบริการได้ 4 ครั้งต่อปีได้สิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถเข้าถึงการรักษา ได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าไข้จ่าย อีกทั้งได้สนองนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วย
นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.รพ.สิรินธร จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่รับผิดชอบ 2 อำเภอ คือ อำเภอบ้านแฮด ทั้งหมด 4 ตำบล และอำเภอเมืองขอนแก่น อีก 2 ตำบล คือ ตำบลท่าพระ และตำบลดอนหัน โดยมี รพ.สิรินธร จังหวัดขอนแก่น เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และมีหน่วยบริการปฐมภูมิรวม 13 แห่ง จัดบริการด้วยทีมหมอครอบครัว (หมอ 3 คน) หมอคนที่ 1 คือ หมอประจำบ้าน (อสม.) หมอคนที่ 2 คือ หมอใกล้บ้าน (หมออนามัย) และหมอคนที่ 3 คือ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ให้บริการเต็มพื้นที่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีตั้งกลุ่มไลน์หมอ 3 คน และหัวหน้าครอบครัวแต่ละหมู่บ้าน เป็นช่องทางการสื่อสารร่วมกันด้วย
สำหรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่นั้น รพ.สต.ท่าพระ เป็นศูนย์แพทย์แม่ข่ายที่มีคุณภาพ มีระบบปรึกษาส่งต่อที่ดีและมีความต่อเนื่อง โดยจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวออกตรวจทุกวัน ประชาชนในพื้นที่ใช้บริการ 80% ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเข้ารับบริการ 70% และได้ยกระดับการบริการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) สามารถรับบริการหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ที่ไหนก็ได้ เกิดขึ้นจริง ในเขตสุขภาพที่ 7 และย้ายสิทธิบัตรทองได้ทันที 4 ครั้งต่อปี จับคู่ความต้องการบริการของประชาชน ดังนี้ 1.บริการส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู รับบริการที่ รพ.สต. 2.บริการรักษาเบื้องต้น สามารถรักษาหรือรับคำปรึกษาทางไกล(Teleconsulting) 3.โรคที่ซับซ้อนต้องการพบแพทย์ ด้วยการส่งต่อศูนย์แพทย์แม่ข่าย
นอกจากนี้ ยังมีระบบสนับสนุนบริการ ได้แก่ 1.ระบบให้คำปรึกษาและการส่งต่อ(Consult and referral system) ด้วยทีมหมอครอบครัว 2.ระบบข้อมูลทางการแพทย์ J-Doctor และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) และระบบการเงินการคลัง E-Claim, Drug Catalog กิจกรรมการขับเคลื่อนงานหมอ 3 คน ได้แก่ ดูแลเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ป้องกันและควบคุมส่งข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น มาตรการแยกสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย (Home quarantine) หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (Communicable Disease Control Unit: CDCU.)ชุมชน รวมทั้งการแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เช่น ปัญหาวัณโรค ซึ่งสามารถขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ในการบริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม สู่เป้าหมายการบริการสุขภาพ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน.
ไพฑูรย์ พรหมเทศ ทีมข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ จ.ขอนแก่น

Related posts
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.