วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนม นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ เครือข่ายสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ร่วมประกอบพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะ กล่าวสดุดี และทำบุญตักบาตรถวายภัตรหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณพระองค์ท่าน ที่ทรงริเริ่มทดลองจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเป็นแห่งแรกและเผยแพร่ระบบสหกรณ์ให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศ ทำให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลในขบวนการสหกรณ์ไทยที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสหกรณ์ ที่นำมาซึ่งความรัก ความสามัคคี ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของขบวนการสหกรณ์ไทย ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ระบบสหกรณ์ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
ว่าที่ร้อยตรี ประสิทธิ์ชัย บุระเนตร สหกรณ์จังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ระบบสหกรณ์เป็นการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ด้วยการส่งเสริมให้ความรู้ประชาชนได้เข้าใจในหลักการ วิธีการสหกรณ์ และสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้อง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 กำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันสหกรณ์แห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันที่มีสหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทย คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ โดยสหกรณ์ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ขณะนั้นประชาชนมีอาชีพหลักคือการทำนา และเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ทำให้มีความต้องการเงินทุนเพื่อมาขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังอยู่ในฐานะยากจน ขาดแคลนเงินทุน จึงจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินจากพ่อค้านายทุน “คหบดี” ซึ่งมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืมทุกวิถีทาง ด้วยเหตุนี้การสหกรณ์ใน
ประเทศไทยจึงเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2459 และมีการพัฒนามาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งจากความสำคัญและประโยชน์ของระบบสหกรณ์ รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์ในฐานะที่เป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะมีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกสหกรณ์และคนในชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น ที่มีการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับการผลิต การค้าและการให้บริการ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับคนในท้องถิ่น ด้วยการต่อยอดและสร้างคุณค่าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ทั้งยังมีการสร้างและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Coop ซึ่งจะทำให้สมาชิกสหกรณ์มีความมั่นคงในชีวิต มีความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล นครพนม
