พิณ เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่นับวันจะกลายเป็นตำนาน ที่คนรุ่นใหม่คิดว่าเป็นเครื่องดนตรีล้าหลังแต่ปราชญ์ชุมชน ศิลปินผู้รักหลงใหลเสียงพิณมาตั้งแต่วัยเด็ก ยังคงสืบสานศิลปวัฒนธรรมถ่ายทอดความรู้ด้านพิณให้กับผู้สนใจ และทำพิณขายเป็นที่ยอมรับมานานกว่า 35 ปี ตั้งปณิธานจะทำพิณไปเรื่อย ๆ แม้จะไม่มีผู้ซื้อ ตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพิณให้กับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และอนุรักษ์ให้คงอยู่ ก่อนที่จะเลือนหายไป
“เมื่อได้ยินเสียงพิณ เสียงแคน อยากร้อง อยากรำ” เป็นคำพูดของ นายทองขัน พาไสย์ อายุ 80 ปี ชาวบ้านบ้านกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ที่ได้เล่าเรื่องราวตั้งแต่วัยเยาว์ว่า ตนชอบเสียงพิณ เสียงแคนตั้งแต่อายุ 13 ปี พ่อได้ให้นำเอาควายไปเลี้ยง ได้ฟังคนแก่เขาดีดพิณเพลงลายต้อนวัวขึ้นภูเขา นั่งฟังเพลินจนควายไปกินต้นข้าวของชาวบ้าน เพราะรักและหลงใหลในเสียงพิณ เมื่อปี พ.ศ. 2528 ก็ได้ไปชมการแสดงการดีดพิณของ อ.ทองใส ทับถนน วงเพชรพิณทอง ดีดพิณลายต้อนวัวขึ้นภูเขาอีกครั้ง ยิ่งฟังยิ่งชอบมาก และพูดกับตัวเองว่าหลังจากดูการแสดงดนตรีเสร็จ ว่าพรุ่งนี้จะทำพิณ พอตื่นเช้าขึ้นมาก็ได้ไปตัดต้นขนุน มาทำพิณในวันเดียวเสร็จ ออกแบบเองไม่มีคนสอน ได้หัดดีด โดยไม่รู้โน้ต จากนั้นได้ไปหาครูดนตรีพิณเพื่อให้ตั้งเสียงพิณให้ อาศัยจำเสียง ดีดไปดีดมาจนเป็น ซึ่งเริ่มทำพิณครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2528 จำนวน 6 ตัว ขาย 3 ตัวแจกฟรี 3 ตัว จากนั้นก็จะไปดีดพิณในงานบุญต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน ก่อนจะมาทำพิณขาย เมื่อปี พ.ศ. 2530 เรื่อยมา ซึ่งครูพิณทั่วประเทศต่างยอมรับในเสียงพิณที่ไพเราะ กังวาน ความละเอียดในงานฝีมือ และเอกลักษณ์รูปหัวพญานาค เพราะอยู่เมืองพญานาค ออกแบบเอง เป็นผู้ผลิตพิณให้กับนักเล่นพิณมืออาชีพของเมืองไทยมากว่า 30 ปี จนได้ฉายาว่า ตำนานพิณแห่งลุ่มน้ำโขง เมืองหนองคาย
ลุงทองขันฯ กล่าวว่า พิณสมัยก่อนชาวพื้นบ้านอีสานจะเรียกว่า บักกะจับปี่ หรือบักกะจับต่ง โดยใช้ไม้ต้นขนุน ต้นสะเดาและต้นกระท้อน ซึ่งชาวบ้านนำมาขายให้ โดยจะทำพิณ 2 ประเภท คือ พิณธรรมดา และพิณไฟฟ้า พิณตัวหนึ่งจะใช้เวลาทำประมาณ 1 อาทิตย์ จะมีราคาตั้งแต่ 1,600-10,000 บาท ซึ่งจะต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญในการเป็นช่างไม้ มีความพยายามและใจรัก ส่วนหัวของพิณจะเป็นรูปพญานาค รูปใบโพธิ์เสี้ยว ซึ่งแต่ละเดือนจะมีรายได้จากการจำหน่ายพิณ 8,000-10,000 บาท บางเดือนจะมีลูกค้าสั่งซื้อ 5- 10 ตัว โดยพิณแต่ละตัวถือเป็นของมงคล เพราะทุกครั้งที่ผู้ซื้อไปตนจะทำพิธีตามความเชื่อก่อนมอบให้ไป
ปัจจุบันบ้านของลุงทองขันฯ ได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจในเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ได้มาเรียนรู้วิธีการทำพิณ และบางครั้งก็จะมีหน่วยงานเชิญไปเป็นวิทยากรพิเศษ ซึ่งลุงทองขันจะมีวิธีการสอนที่ไม่เหมือนใคร คือใช้วิธีสอนด้วยนิ้วจำเสียงเป็นหลัก มีลูกศิษย์หลายรุ่น แต่ช่วงหลังคนรุ่นใหม่ไม่นิยมมาเรียนเพราะคิดว่ามันล้าหลัง แต่ลุงทองขันฯ ก็ยังทำพิณขายเช่นเดิม ตั้งปณิธานว่า จะสืบสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านไว้ จะถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพิณ ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ และจะอนุรักษ์ไว้ตลอดไป
จากความพยายามจนประสบผลสำเร็จ ในการสืบทอดและอนุรักษ์พิณเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานมานานตลอดชีวิต และเป็นปราชญ์ชุมชนด้านพิณดนตรีอีสาน ได้รับ รางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่น รางวัลทำพิณ ระดับสี่ดาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2546 – 2547 และศิลปินดีเด่นจังหวัดหนองคาย สาขา ศิลปะการแสดง ปี พ.ศ. 2548 เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพของลุงทองขัน พาไสย์ ตำนานพิณแห่งลุ่มน้ำโขงเมืองหนองคาย:ฤาษีลภ –อภิชาติ//จ.หนองคาย