คณะอนุฯโควิดเบรค กกท.อย่ายกกฏหมายเทียบเคียง ลดทอดเจตนารมณ์ ของ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งชาติ ย้ำ มาตรา 9 เปิดโอกาสให้นักกีฬากู้ยืมเงิน จากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้
รัฐสภา-เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เวลา 14.00 น. ชั้น 3 ห้องประชุม 303 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามผลกระทบทางด้านการกีฬาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID – 19)ในคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกฎหมายเกี่ยวกับการ “ให้ยืมเงิน” “การกู้ยืมเงิน” ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ และผลความคืบหน้าในการเยียวยานักกีฬาอาชีพที่ได้รับผลกระทบทางด้านการกีฬาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID – 19) ของการกีฬาแห่งประเทศไทยโดยเชิญผู้แทนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย นายประวิทย์ เมตตา ผอ.กองนิติการ และ นายพลัฏฐ์ สุวรรณเมธากร ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนากีฬาอาชีพ การกีฬาแห่งประเทศไทย
การประชุมเป็นครั้งที่ 10 ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย ส.ส.วัชรพล โตมรศักดิ์ , นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม , นายเกรียงไกร นาควะรี รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่ปรึกษาและนายอภิวัตร จาตา โฆษก ฯได้ร่วมกันรับฟังคำชี้แจงทราบว่า นับจากที่คณะอนุกรรมาธิการฯชุดนี้ ได้เสนอให้ กกท.ได้ใช้กฏหมายตาม พ.ร.บ.กีฬาฯ ในมาตรา 9 ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 1 ซึ่งสาระสำคัญคือการให้ กกท.ใช้กฏหมายตาม พ.ร.บ.กีฬาฯ ให้นักกีฬากู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ที่มีกว่าสี่พันล้านบาทในแต่ละปี มีความคืบทราบว่า ฝ่ายนิติการฯได้ชี้แจงเข้าอนุกรรมาการกลั่นกรองกฏหมายของ กกท. ซึ่งยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ด้วยเหตุผลว่าการใช้จ่ายจะต้องผ่านกระทรวงการคลัง
นายเกรียงไกร นาควะรี รองประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า หากทางกองนิติการ การกีฬาแห่งประเทศไทยสรุปเช่นนี้เป็นความเข้าใจผิด เพราะข้อเท็จจริงว่าด้วยกฏหมาย การกีฬาแห่งประเทศไทย มี พ.ร.บ.การกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นพระรราชบัญญัติโดยเฉพาะของ กกท.อยู่แล้ว ตาม มาตรา 9 ได้ระบุและให้อำนาจในการกู้ยืมเงินได้ การที่ฝ่านนิติการชี้แจงว่าการกู้เงินยังไปเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ หรือ พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.๒๕๔๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากว่า การ “ให้ยืมเงิน” “การกู้ยืมเงิน” ต้องสอดคล้องกับมาตรา ๘ นั้น ซึ่งความจริงแล้ว พ.ร.บ.การกีฬานี้กับ พ.ร.บ.ทั้งสามฉบับที่ยกมาถือว่าเป็นกฏหมายที่มีลำดับศักดิ์เท่ากัน
“เมื่อการกีฬาแห่งประเทศไทย มี กฏหมายเป็นของตนเอง นั้นก็คือ พ.ร.บ.การ กีฬาฯ กกท.ก็ต้องกล้าที่จะใช้กฏหมายของตนเองในทางที่ถูกต้องเป็นคุณประโยชน์ให้แก่ประชาชนและนักกีฬา เนื่องจาก พ.ร.บ.การกีฬาฯ ได้ให้อำนาจ กกท.เอาไว้”
นายเกรียงไกร นาควะรี กล่าวต่อว่า การที่ผู้ชี้แจงได้ชี้แจงว่าการกู้ยืมเงินยังต้องเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ทั้งสามฉบับนี้ ตนมองว่า หากมีการนำ พ.ร.บ.สามฉบับนี้มาใช้ก็ต้องนำมาใช้ในทางที่เป็นคุณประโยชน์เท่านั้น หากเอากฏหมายทั้งสามฉบับนี้มาใช้เพื่อลดทอดอำนาจหรือลดทอดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การกีฬาฯฉบับนี้นั้น ไม่สามารถกระทำได้ จึงของให้ใช้กฏหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักกีฬาได้กู้เงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่เปรียบเสมือนคนกีฬาดูแลกันเอง
ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม ป.คณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวสรุปว่า สิ่งที่คณะอนุฯชุดนี้ ตั้งใจทำก็เพื่อคนกีฬาจะได้เข้าถึงการใช้งบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ตามกฏหมาย ซึ่งมี พ.ร.บ.การกีฬาฯรองรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์เชื่อไวรัสโควิด19 ซึ่งยังเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการช่วยกันดูแลนักกีฬาตามหลักเกณฑ์ของ กกท. จึงขอให้เร่งทบทวนเพื่อจัดทำแผนซึ่งคณะอนุฯชุดนี้ก็จะยังคงติดตามเรื่องนี้ต่อไป