กาฬสินธุ์(ชมคลิป)แล้งใช้น้ำทิ้งจากบ่อกุ้งหล่อเลี้ยงข้าวนาปรัง


ชาวนาในอำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย และอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่ห่างไกลคลองชลประทานสายหลักสูบน้ำฝนที่กักเก็บตามบ่อในพื้นที่นา และน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงกุ้งเข้าใส่แปลงนา เพื่อทำการหว่านเมล็ดพันธุ์และหล่อเลี้ยงต้นข้าวนาปรัง ขณะที่ปริมาณน้ำที่เขื่อนลำปาวปัจจุบันเหลือเพียง 854 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 43% จากความจุ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ในช่วงฤดูแล้ง พบว่าในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ในเขต อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และ อ.ยางตลาด ที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มและกักเก็บน้ำฝนไว้ตามบ่อในแปลงนา ต่างลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ และสูบน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว ที่กำลังแตกหน่อกันอย่างคึกคัก ขณะที่ชาวนาที่อยู่พื้นที่ห่างไกลคลองชลประทาน ต้องขาดโอกาสในการทำนาปรัง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ปริมาณฝนน้อย และทิ้งช่วงส่งผลให้น้ำเขื่อนลำปาวเหลือน้อย ที่อาจไม่เพียงพอและส่งผลให้ข้าวนาปรังเสียหาย
นายสุนทร ภูฉายา ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลบัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง ไม่มีน้ำเติมเข้าอ่าง ปัจจุบันเหลือเพียง 854 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 43% จากความจุ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ที่เขื่อนลำปาว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แจ้งเตือนเกษตรกรทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ปลูกข้าว ระมัดระวังใช้น้ำ รวมทั้งให้ลดพื้นที่เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาและทำนาปรัง เพื่อป้องกันความเสียหาย จากกรณีขาดแคลนน้ำด้วย
นายสุนทร กล่าวอีกว่า ในภาพรวมพบว่าเกษตรกรมีการปรับตัวตามสถานการณ์ โดยลดพื้นที่ประกอบอาชีพดังกล่าว สำหรับตนและชาวนาในพื้นที่ห่างไกลคลองชลประทานสายหลัก ในเขต อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และ อ.ยางตลาด ซึ่งได้รับน้ำไม่เพียงพอ แต่มีความจำเป็นต้องทำนาปรัง เพื่อยังชีพในครัวเรือนและจำหน่าย อาศัยน้ำฝนที่กักเก็บไว้ในบ่อกลางแปลงนา และสูบน้ำจากคลองไส้ไก่ ซึ่งเป็นน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงกุ้งของเพื่อนบ้านเข้าหล่อเลี้ยงต้นข้าว ทำให้ชาวนาต้องสิ้นเปลืองต้นทุนการผลิตด้านค่าน้ำมันเพิ่มอีก ทั้งยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านรถไถ ค่าปุ๋ยยาที่ราคาแพง แต่ก็จำเป็นต้องลงทุน เพราะหากไม่ทำนาก็ไมรู้จะทำอะไร เนื่องจากเป็นอาชีพหลัก จึงอยากเรียกร้องส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ามาควบคุมราคาปุ๋ยยา ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงขึ้นด้วย เพราะราคาข้าวเปลือกนาปีที่ผ่านมาตกต่ำมาก ทำให้ชาวนาประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก