หนองคาย- ชมรมผ้าไทหนองคาย ร่วมกับภาคเอกชน และชาวบ้านร่วมใจจัดกิจกรรมปลูกต้นฝ้ายมงคลจุลกฐิน

ชมรมผ้าไทหนองคาย ร่วมกับภาคเอกชน และชาวบ้านร่วมใจจัดกิจกรรมปลูกต้นฝ้ายมงคลจุลกฐิน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ที่มีแต่โบราณเพื่อเตรียมทอผ้าจุลกฐินสำหรับทอดถวายวัดผาใหญ่วชิรวงศ์ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
ที่บริเวณริมโขงบ้านผาตั้ง ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ชมรมผ้าไทหนองคาย ได้จัดให้มีกิจกรรมปลูกต้นฝ้ายมงคลจุลกฐิน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ ที่มีมาแต่โบราณ ก่อนที่จะถึงบุญกฐินใหญ่ในช่วงปลายปี โดย มีพระอาจารย์สุริยา สิรินธโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดผาใหญ่วชิรวงค์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดย นายรัตน์สุวรรณ ทองสุ่มมาตร์ ได้ให้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมและปลูกฝ้ายจุลกฐินครั้งนี้
จุลกฐิน ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ยังคงมีการสืบสานการทำบุญจุลกฐิน ตามวิถีประเพณีดั้งเดิม จุลกฐิน ชื่อกฐินเล็ก แต่อานิสงส์ยิ่งใหญ่ เป็นกิจกรรมการทำกฐินที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 วัน ซึ่งคนสมัยก่อนถือว่าได้บุญมากล้นกว่าการทอดกฐินปกติทั่วๆไปงานจุลกฐินเป็นงานประเพณีที่ดั้งเดิมมีขึ้นเฉพาะในชุมชนที่มีการปลูกฝ้าย ทอผ้า เพราะต้องทำผ้าไตรจีวร 1 ชุดให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน แล้วจึงนำไปถวายวัดในเช้าวันถัดไป ซึ่งชาวชุมชนต้องสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันเตรียมงาน จัดงาน และทอผ้าไตรจีวรให้เสร็จ ทั้งนี้ในบ้านเราแต่เดิมจะมีการจัดงานจุลกฐินขึ้นเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานที่มีการปลูกฝ้าย
นายณัฐปคัลภ์ ไชยมุติ (ครูโอ่ง) กล่าวว่า การปลูกต้นฝ้ายมงคลจุลกฐินเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่นี้ เพื่อเตรียมฝ้ายไว้ทอผ้าจุลกฐินสำหรับทอดถวายวัดผาใหญ่ วชิรวงศ์ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นวัดที่อยู่บนภูเขา โดยการปลูกต้นฝ้ายครั้งนี้ มีภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย,สมาคมส่งเสริมธุรกิจและการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย ประชาชนในพื้นที่ร่วมปลูก และนายรัตน์สุวรรณ ทองสุ่มมาตร์ เจ้าของร้านกาแฟบานาเบอรี่ สนับสนุนสถานที่และงบประมาณในการจัดกิจกรรม ในส่วนกิจกรรมปลูกฝ้ายมงคลจุลกฐิน ถือเป็นการเริ่มต้นทำผ้าจากใยฝ้ายสู่ผ้าไตรจีวร เป็นผ้าจุลกฐินที่มีความหมายทางพุทธศาสนาในทางพุทธวินัย โดยจะนำปุยฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นใยด้ายและทอเป็นผ้า ผ่านกรรมวิธีแบบโบราณทั้งหมด การปลูกฝ้าย จึงเป็นกิจกรรมสำคัญอันดับแรกของงาน เนื่องจากต้องใช้ฝ้ายสำหรับทอผ้าไตรจีวร และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
ด้าน ดร.อรุณศรี อื้อศรีวงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ฝ้ายที่ปลูกตามริมแม่น้ำโขงเป็นฝ้ายที่มีคุณภาพ จากสภาพอากาศจะทำให้ฝ้ายออดดอกใหญ่ เป็นปุยขาวสวยงาม การจัดกิจกรรมปลูกต้นฝ้ายมงคลจุลกฐิน ครั้งนี้เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมฝ้ายวิถีริมโขง เพื่อจะนำเอาฝ้ายไปทอเป็นผ้าจุลกฐิน เพราะคนที่อยู่ริมแม่น้ำโขงสมัยก่อน มีวิถีชีวิตกับการปลูกฝ้ายในการทอผ้าใช้เอง ซึ่งจะมีการฟื้นฟูการปลูกฝ้ายริมแม่น้ำโขงจากไยฝ้ายสู่การท่องเที่ยวเมืองพญานาคต่อไป:ฤาษีลภ-ปวีณา//จ.หนองคาย