ชมรมทูบีชุมชนบ้านโคกล่าม อบต.นากอก คว้ารางวัลชนะเลิศกล้วยบวชชี 3 ฤดูในงานการแข่งขันเพื่อคัดเลือกต้นแบบอาหารท้องถิ่นบนฐานเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 สำหรับต่อยอดเป็นสำรับอาหารประจำจังหวัดหนองบัวลำภู ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
วันนี้(15 ธค.63) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประกวดการพัฒนาต่อยอดอาหารท้องถิ่นบนฐานเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ณ ถนนคนเดินหนองบัวลำภู ภายในสนามสมเด็จพระนเรศวร อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี นายเวียงชัย แก้วพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นประธานในการมอบเงินรางวัลการประกวดอาหาร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชนเยี่ยมชมชิมการประกวดอาหารประเภทคาวได้แก่แกงหวาย ปิ้งใบตอง และ ประเภทของหวาน กล้วยบวชชี
สำหรับประเภทอาหารที่นำมาแข่งขันในครั้งนี้ได้แก่แกงหวาย ซึ่งเป็นพืชที่หายากและนิยมปลูกแถวบ้านห้วยเดื่อ ต.โนนทัน และบ้านแก ต.นากอก อ.ศรีบุญเรือง รสชาติขมหวานอร่อย สำหรับปิ้งตอง คือ การนำใบตองมาเป็นวัสดุในการห่อวัตถุดิบที่เน้นสมุนไพร ผักตามบ้านที่ปรุงเสร็จเรียบร้อย แล้วนำไปย่างจนหอมกรุ่นน่าทาน ส่วนกล้วยบวชชี คือ การนำกล้วยห่ามที่มีเยอะแทบทุกบ้านมาบวช โดยตั้งบนเตาถ่าน ค่อย ๆ เคี้ยวจนน้ำเชื่อมและกะทิพอประมาณให้น้ำขลุกขลิก ใส่ใบเตยที่หั่นลงไปนิดหน่อยเพื่อให้หอมชื่นใจ
ในการประกวดแข่งขันสำรับอาหารประจำจังหวัดหนองบัวลำภู ในครั้งนี้คณะกรรมการตัดสินได้ประกาศทีมที่ชนะเลิศ รองชนะเลิศ และชมเชย สำหรับอาหารประเภทคาว(แกงหวาย) ชนะเลิศได้แก่บ้านห้วยบง “สาวน้อยรักระทม”รองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านนากอก 1 “แกงหวายเห็ดรวม”รองชนะเลิศอันดับ 2บ้านท่าอุทัย “แกงหวายมะพร้าวอ่อน”รางวัลชมเชยได้แก่บ้านนาคำไฮ “ก้อยหวาย” ประเภทปิ้งตองชนะเลิศได้แก่ บ้านนาคำไฮ “แกงอ่อมปิ้งตอง”รองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านท่าอุทัย “ปิ้งตองคุกฝุ่น”และรองชนะเลิศอันดับ 2 บ้านหวยบง “แพทองคะนองไฟ”
สำหรับประเภทอาหารหวาน(กล้วยบวชชี) ชนะเลิศ บ้านนากอก 2 (ชมรมทูบีฯชุมชนบ้านโคกล่าม อบต.นากอก) “กล้วยบวชชีมะพร้าวอ่อน 3 ฤดู”รองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านหนองด่าน “กล้วยบวชชีร่องมะพร้าวอ่อน สูตรเริดร่ำ เมืองลุ่มภู”รองชนะเลิศอันดับ 2 บ้านอุทัยเหนือ “กล้วยบวชเณร”รางวัลชมเชย บ้านหวยบง “นารีทรงศิล”ซึ่งทีมที่ชนะเลิศ รองชนะเลิศ ตามลำดับและชมเชย ได้รับเงินรางวัลและเกียรติบัตร ส่วนที่ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะเป็นตัวแทนจังหวัดหนองบัวลำภู ไปแข่งขันในระดับภาคอีสานตอนบน 1ที่จังหวัดเลย ในวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ณ ถนนเลาะเลย จังหวัดเลย เฉพาะกลุ่มที่ชนะการแข่งขันจากจังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดบึงกาฬ
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. ปฤฐฎาง จันทร์บุญเรือง พร้อมคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กล่าวถึงกิจกรรมที่ดำเนินการนี้เป็นผลงานวิจัยชิ้นที่ 2ใน 4 โครงการที่ดำเนินการ คือการพัฒนาต่อยอดอาหารท้องถิ่นบนฐานเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาชิมลิ้มลองอาหารท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อจังหวัดหนองบัวลำภู ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เพื่อเป็นการถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อรุ่นสืบสานและปกป้องไม่ให้ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา และยับยั้งการกลายรูปแบบเอกลักษณ์อาหารท้องถิ่นไปอย่างไร้ทิศทางขาดจิตสำนึก
โดยให้อาหารท้องถิ่นอีสานคงอยู่บนฐานเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม 4 ด้าน ได้แก่ทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งกระบวนการผลิต ที่เน้นวัตถุดิบในการปรุงอาหารมาจากท้องถิ่น วิธีการปรุงอาหารที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอีสาน รูปแบบการบริโภค เช่น นั่งล้อมวงทาน เปิบด้วยมือ การนำเสนออาหารท้องถิ่นในวาระพิเศษประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงรสชาติ การจัดตกแต่งอาหารที่แสดงถึงความเชื่อมโยงกับพื้นที่และเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน และภาษาในการสื่อสารเกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น
สำหรับการคัดสรรอาหารคาวท้องถิ่นและอาหารหวานท้องถิ่นของจังหวัดหนองบัวลำภู ทั้งอาหารคาว และอาหารหวานท้องถิ่น ที่ขึ้นชื่อและมีเอกลักษณ์ของจังหวัดหนองบัวลำภู มาเป็นโจทย์ในการต่อยอดการแข่งขัน โดยนำอาหารคาวและอาหารหวานท้องถิ่นที่ผ่านการคัดเลือกดังกล่าวมาต่อยอดเป็นอาหารคาวและอาหารหวานท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์แข่งขันเพื่อคัดเลือกต้นแบบอาหารท้องถิ่นบนฐานเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่อยอดเป็นสำหรับอาหารประจำจังหวัดหนองบัวลำภู
ทีมข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู