เลย(ชมคลิป)เชียงคานติดอันดับ1ใน100เมืองท่องเที่ยวยั่งยืนโลก

รมว.ท่องเที่ยวฯ มอบสัญลักษณ์เชียงคานติด 1 ใน 100 เมืองท่องเที่ยวยั่งยืนโลก ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดเลยหลังโควิด-19
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ภายหลังอำเภอเชียงคาน ติด 1 ใน100 เมืองท่องเที่ยวยั่งยืนโลกจากประเทศเยอรมันประจำปี 2563 โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นางสาวธนวัน กาสี ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเลย นางสาวจุฑามาศ กุลรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเลย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว ให้การต้อนรับ
นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่ง ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ติด 1 ใน100 เมืองท่องเที่ยวยั่งยืนโลกจากประเทศเยอรมันประจำปี 2563 ซึ่งการได้รับการประกาศครั้งนี้ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า อำเภอเชียงคานนั้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การบริหารแหล่งท่องเที่ยวการจัดการผลประโยชน์และการกระจายรายได้ มีความเป็นธรรมการบริหารจัดการ และป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยการจัดการต้นทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมประชาชนมีความเป็นมิตร เป็นต้น

ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จของพวกเราทุกคนที่มีความมุ่งมั่นและให้ความร่วมมือ ร่วมกันทุกภาคส่วนพร้อมกันนี้ขอชื่นชมและให้กำลังใจบุคลากรเจ้าหน้าที่ทุกองค์กรที่ให้ความร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนและพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่เป้าหมายที่ท้าทายและขับเคลื่อนเชียงคานก้าวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานสากลเป็นเชียงคาน Top 100 ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวสนใจมาเที่ยวเชียงคานมากขึ้น แต่นอกจากอำเภอเชียงคานแล้ว จ.เลย ยังมีหลายอำเภอที่มีเสน่ห์ น่าไปสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ที่ดี เมืองแห่งภูเขา และบรรยากาศริมแม่น้ำโขง ก็ขอเชิญชวนให้มาท่องเที่ยวจังหวัดเลย

พร้อมกันนี้ ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาการเมืองท่องเที่ยวชุมชน วัฒนธรรม และ ประเพณี เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด 19 นั้น ธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยว ได้กลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง จึงอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่ยังอยู่ในประเทศไทยได้ออกมาท่องเที่ยว สัมผัสแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยไป เพื่อทำความรู้จักประเทศไทยให้มากขึ้น โดยยืนยันว่า ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวแล้ว นอกจากนี้เพื่อการันตีเรื่องความพร้อมด้านมาตรการป้องกันโควิด19 ของสถานที่ท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำมาตรฐาน SHA มอบให้กับสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า สถานประกอบการนั้นท่องเที่ยวได้ปราศจากโควิด-19 แน่นอน


นอกจากแสดงความยินดีกับอำเภอเชียงคานแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบสัญลักษณ์ SHA มาตรฐานด้านการท่องเที่ยวให้ผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ ทั้งหมด 18 ราย พร้อมกันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกียรติบัตรรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้กับ 3 ชุมชนประกอบด้วย ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูพระใหญ่บ้านท่าดีหมีหมู่ 4 ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 2. วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ อำเภอภูหลวง หมู่ 5 ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลยและ 3. ชมรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน ตำบลกกสะทอนอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
โดยทั้ง 3 แห่งได้ผ่านการประเมินมาตรฐานการท่องเที่ยวชุมชน ที่มีตัวชี้วัดหลัก 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน 2.ด้านการจัดการเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดี 3. ด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมชุมชน 4. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน 5.ด้านคุณภาพการให้บริการการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ6.ด้านส่งเสริมประชาสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ


นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังเดินทางไปยังสกายวอล์ค แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของอำเภอเชียงคาน พร้อมกับรับชมการแสดงของดีบ้านท่าดีหมี รวมถึงยังเดินทางไปยังศูนย์วัฒนธรรมคนไทดำ บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เพื่อเป็นประธานเปิดงาน “ถนนโคมไฟไทดำ กินจุ๊บผัก สัมผัสวิถีคนไทยดำ” ซึ่งเป็นการนำโคมไฟไทดำประมาณ 1,000 ดวง มาตกแต่งทางท้องถนนในหมู่บ้านยาวกว่า 300 เมตร รวมถึงจัดให้มีถนนคนเดิน จำหน่ายสินค้าท้องถิ่น และการแสดง ตลอดแนวโคมไฟ
นายสุทธิสอาน นามกอง ประธานชมรมคนไทดำบ้านนาป่าหนาด กล่าวว่า เกิดขึ้นจากแนวคิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งชุมชนและ อพท..ได้วางแผนและดำเนินกิจกรรมนี้ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ศูนย์วัฒนธรรมคนคนไทยดำ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีชีวิต เกิดการสืบสานวิถีของคนไทยดำ และส่งต่อความเป็นไทยดำ ให้นักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วไปได้รู้จักวิถีชีวิตของชุมชนไทดำมากยิ่งขึ้น ผ่านการเปลี่ยนถนนธรรมดาให้เป็นถนนโคมไฟไทดำที่สวยงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาซื้อ มาชิม และมาชมวิถีชีวิตของชาวไทดำ ซึ่งกิจกรรมนี้ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนไทดำ และชุมชนบริเวณโดยรอบให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวในวงกว้างมากยิ่งขึ้น


ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์/ จ.เลย /