รัฐสภา- เมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น.ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) ๔๑๖ ชั้น ๔ อาคารรัฐสภา ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นประธานในที่ประชุมพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริงกรณีปัญหาความล่าช้าในการจ่ายเงินรางวัลแก่นักกีฬาเรือพายทีมชาติไทยในการแข่งขัน “เรือยาวมังกรชิงแชมป์โลก” ครั้งที่ ๑๔ เมื่อวันที่ ๒๑-๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ จังหวัดชลบุรีในรุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน ๑๖ ปี
โดยเชิญ บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ นางสาวสุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พลเรือเอก ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ นายกสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย และนางสาวฐปนันท์ ชนะสงคราม หัวหน้างานบัญชีและพัสดุกองทุนกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย
ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหน้าที่ประธาน
ในที่ประชุม เพื่อพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริงกรณีปัญหาความล่าช้าในการจ่ายเงินรางวัลแก่นักกีฬาเรือพายทีมชาติไทย
ในการแข่งขัน “เรือยาวมังกรชิงแชมป์โลก” ครั้งที่ ๑๔ เมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ จังหวัดชลบุรี
ในรุ่นเยาวชน อายุไม่เกิน ๑๖ ปี โดยมีกรรมาธิการและคณะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการได้เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งได้เชิญ พลเรือเอก ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ นายกสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย พลเรือตรี นฤพล เกิดนาค เลขาธิการสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย นางสาวสุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และ นางสาวฐปนันท์ ชนะสงคราม หัวหน้างานบัญชีและพัสดุกองทุนกีฬา ผู้แทนการกีฬาแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม
นายวัชรพล โตมรศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ รายงานต่อที่ประชุมให้ทราบว่า ตามที่นายศุภชัย นพขำ กรรมาธิการ ได้นำเสนอปัญหาสืบเนื่องจากการแข่งขันดังกล่าว นักกีฬาไทยประสบความสำเร็จได้รับเหรียญรางวัลจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เสร็จสิ้นการแข่งขันจัดการแข่งขัน เป็นระยะเวลากว่า ๑ ปีแล้ว ยังไม่มีใครได้รับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่นักกีฬาต้องได้รับการแก้ไขเยียวยา
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการจึงมีข้อสอบถามในประเด็นดังกล่าว ดังนี้
๑) ตามระเบียบและกระบวนการการให้เงินรางวัลในการแข่งขันมหกรรมกีฬาแก่นักกีฬา ที่ได้รับรางวัลจากมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ มีกำหนดระยะเวลานานเพียงใดกว่านักกีฬาจะได้รับเงินรางวัล
๒) ขอทราบข้อเท็จจริงว่าเกิดปัญหาหรืออุปสรรคประการใดที่ทำให้การดำเนินการจ่ายเงินรางวัลแก่นักกีฬา จึงมีความล่าช้า และการกีฬาแห่งประเทศไทยและกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติจะใช้ระยะเวลาเพียงใด จึงจะสามารถจ่ายเงินรางวัลแก่นักกีฬาเรือพายทีมชาติไทย ในกรณีที่ร้องขอนี้ได้
๓) การกีฬาแห่งประเทศไทยและกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีแนวทางในการปรับปรุงระเบียบ วิธีการ หรือกระบวนการอย่างไร ที่จะสามารถช่วยเหลือให้มีการจ่ายเงินรางวัลแก่นักกีฬาที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
นางสาวสุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่า คณะกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พิจารณาการให้เงินรางวัลแก่นักกีฬา ตามระเบียบคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การบริหารกองทุน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกอบประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้เงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการจ่ายเงินรางวัล ดังนี้
๑. รุ่นทั่วไปตามหลักเกณฑ์รายการชิงชนะเลิศแห่งโลกจะต้องเป็นชนิดกีฬามาตรฐานที่มีการแข่งขันใน Asian Game ครั้งล่าสุด
๒. รุ่นเยาวชน เนื่องจากไม่มีการจัดการแข่งขันใน Asian Game ๒๐๑๘ จึงพิจารณาจ่ายในหลักเกณฑ์เดียวกันกับชนิดกีฬาอื่น ๆ ที่มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ ๑๖ ประเทศ แต่ไม่เกิน ๓๑ ประเทศ
๓. รายการที่มีการแข่งขันใน Asian Game บางรายการก็จ่ายตามหลักเกณฑ์ปกติ บางรายการก็จ่ายตามหลักเกณฑ์ Sea Game บางรายการก็จ่ายในหลักเกณฑ์ชนิดกีฬาอื่น ๆ
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบในการจ่ายเงินรางวัลให้นักกีฬา จำนวน ๒ ประเภท ที่ตรงตามหลักเกณฑ์ ประกอบด้วย (๑) กลุ่มนักกีฬาสมัครเล่น รุ่นทั่วไป และ (๒) นักกีฬาสมัครเล่น รุ่นสูงอายุ ในกรณี กลุ่มนักกีฬาสมัครเล่น รุ่นเยาวชน อายุไม่เกิน ๑๖ ปี (ตามที่เป็นข่าว) คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาจ่ายให้เฉพาะรายการแข่งขันที่มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ๖ ประเทศขึ้นไป
โดยในลำดับแรกจะพิจารณาตามระเบียบ หลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่ต้องไม่เกินกรอบวงเงินคงเหลืองบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในหมวด เงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่นำจ่ายเนื่องจากรอให้สมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย ตรวจสอบรายชื่อนักกีฬาที่เข้าเกณฑ์ในการได้รับรางวัลดังกล่าวส่งให้กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินำจ่ายเงินรางวัลแก่นักกีฬาโดยตรงต่อไป
โดยความล่าช้าในการดำเนินการในการดำเนินการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเกิดจากการสรรหาผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่ใช้เวลานาน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID – 19) ทำให้การดำเนินการมีความชะงักงัน ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาในการดำเนินการที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จึงมีมติให้ปรับปรุงแก้ไข ระเบียบ และหลักเกณฑ์ในการให้เงินรางวัลนักกีฬาให้มีความชัดเจน ถูกต้อง
เป็นปัจจุบัน และให้ความยุติธรรม แก่นักกีฬาผู้ซึ่งทำชื่อเสียงให้กับประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ประมาณเดือนมกราคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
พลเรือเอก ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ นายกสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย รายงานต่อที่ประชุมว่า ตามที่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติชี้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้เงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” พ.ศ. ๒๕๖๒ ในการให้เงินรางวัลแก่ผู้ได้รับเหรียญตามหลักเกณฑ์ต้องตัดประเภทการแข่งขันที่มีประเทศเข้าร่วมแข่งขันไม่ถึง ๖ ประเทศออก เป็นผลให้ นักกีฬาเรือยาวมังกร รุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน ๑๖ ปี จะไม่ได้รับเงินรางวัลในการได้รับเหรียญรางวัลจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ทั้งนี้ สมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทยจะพิจารณาดำเนินการในส่วนการชดเชยเงินรางวัลดังกล่าว แก่ สมานักกีฬาเรือยาวมังกร รุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน ๑๖ ปี ต่อไป
ที่ประชุมรับทราบปัญหาและผลการดำเนินการของทั้ง ๒ ฝ่าย และมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
๑) ให้กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รายงานผลการดำเนินการจ่ายเงินรางวัลแก่นักกีฬาเรือพายทีมชาติไทย ในการแข่งขัน “เรือยาวมังกรชิงแชมป์โลก” ครั้งที่ ๑๔ และผลการแก้ไขประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้เงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” พ.ศ. ๒๕๖๒ เมื่อแล้วเสร็จ เสนอต่อคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อทราบต่อไป
๒) ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย รับไปพิจารณาสัดส่วนของเงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศ กับความคุ้มค่าและผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับเสนอต่อคณะกรรมาธิการกีฬา
สภาผู้แทนราษฎร เพื่อทราบต่อไป.