ขอนแก่น-พ่อเมืองหมอแคนเป็นประธานพิธีลงนามการบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการ smart ชุมแพ พ.ศ.2563

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานพิธีลงนามการบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการ smart ชุมแพ พ.ศ.2563

วันนี้ (1 ก.ย.63) ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีลงนามการบันทึกข้อตกลง (MOU)ระหว่างอำเภอชุมแพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องความร่วมมือโครงการ “smart ชุมแพ” พ.ศ.2563 โดยมี นายสมเกียรติ ดีบุญมี ณ ชุมแพ นายกเทศมนตรีเมืองชุมแพ กล่าวต้อนรับ นางสุภาวดี ศรีสุขวัฒน์ นายอำเภอชุมแพ กล่าวรายงานที่มาและความสำคัญ โครงการ smart ชุมแพ พ.ศ.2563 พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอชุมแพ ร่วมในพิธีครั้งนี้

ก่อนพิธีลงนาม อาจารย์ศุภชาติ บุตรดีขันธ์ กรรมการและที่ปรึกษาผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่ได้บรรยายในหัวข้อ กระบวนการ วิธีการ ในการดำเนินโครงการ “smart ชุมแพ” พ.ศ.2563 เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในโครงการฯ ประโยชน์ที่ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน จะได้รับจากโครงการฯ

นางสุภาวดี ศรีสุขวัฒน์ นายอำเภอชุมแพ กล่าวว่า อำเภอชุมแพได้รับเลือกเป็นเมือง smart city จึงได้เตรียมความพร้อมให้เป็นเมืองอัจฉริยะในการบริหารและจัดการเมือง โดยอำเภอชุมแพได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการเตรียมความพร้อม “smart ชุมแพ” พ.ศ.2563 เพื่อพัฒนาบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนวัตกรรมท้องถิ่น

ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โครงการ “smart ชุมแพ” พ.ศ.2563 ซึ่งอำเภอชุมแพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายได้ตกลงร่วมมือกันดำเนินงาน เชื่อมันว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาและเสริมสร้างพลังทางความรู้ให้กับท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งและก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก่อให้เกิด Smart People บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ภายใต้ความร่วมมือในรูปแบบกัลยาณมิตรที่เติบโตไปพร้อมกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่ยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ จากนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องของ Smart City ได้เข้ามามีบทบาทต่อสังคมชุมชนมากขึ้นตามการพัฒนาแบบ ขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) นำร่อง 1 ใน 7 ของประเทศไทยจากรัฐบาล ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนใน 6 ด้าน อันประกอบด้วย smart mobility , smart living , smart citizen , smart economy , smart environment และ smart governance ทั้งนี้ Khon Kaen Smart City จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการพัฒนาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของจังหวัด ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนในทุกภาคส่วน