สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ชี้แจงแนวทางขับเคลื่อนโคก หนอง นา โมเดล หลังรัฐบาลไฟเขียวให้จังหวัดกาฬสินธุ์ขับเคลื่อนโครงการ สรุปเฟส 1 ทั้ง 18 อำเภอ ร่วมโครงการ 2,446 ครัวเรือน ขณะที่ชาวบ้านดีใจและฝากขอบคุณรัฐบาล อนุมัติงบประมาณ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาว่างงาน และรองรับแรงงานคืนถิ่นหลังได้รับผลกระทบโควิด-19
วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมชี้แจงและสร้างการรับรู้แนวทางขับเคลื่อนโครงการโคก หนอง นา โมเดล โดยมีนายชัชชัย กลีบมะลิ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายนรินทร์ เกล้าจะโป๊ะ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นายมีชัย นาใจดีหัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางพรหมภัสสร ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ พร้อมด้วยพัฒนาการทั้ง 18 อำเภอใน จ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ให้พออยู่ พอกิน ซึ่งโครงการโคก หนอง นา โมเดล เป็นอีกแนวทางในการขับเคลื่อน เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การดำรงชีวิตแบบพออยู่ พอกิน มีการช่วยเหลือ เกิดเครือข่ายสานสายใยความรู้ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา โมเดล จะใช้หลักการบริหารพื้นที่ น้ำ ฟ้า ป่า อากาศ ซึ่งจะนำไปสู่ความกินดี อยู่ดี มีรายได้เลี้ยงตัวเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายอุทัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเปิดรับสมัครร่วมโครงการนั้น ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทั้งนี้ หลังจากผ่านขั้นตอนเกษตรกรหรือประชาชนยื่นเอกสารการสมัครเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็จะลงพื้นที่ เพื่อดูความพร้อมของสภาพพื้นที่ ก่อนที่จะสรุปกลุ่มเป้าหมายในเฟสที่ 1 พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ มีขนาด 1 ไร่ และ 3 ไร่ ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ มีขนาด 15 ไร่ และมากกว่า 15 ไร่ ภาพรวมทั้ง 18 อำเภอ 135 ตำบล 1,320 หมู่บ้าน เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,446 ครัวเรือน
นายอุทัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงขณะนี้เป็นที่น่ายินดีกับพี่น้องชาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังจะได้รับการอนุมัติงบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการโคก หนอง นา โมเดล ในเฟสแรกนี้ โดยทั่วประเทศมี 2 จังหวัดเท่านั้น คือ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.อุบลราชธานี ที่รัฐบาลจะได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว จึงได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางให้กับพัฒนาการอำเภอและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ แนวทางดำเนินงาน การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของจ้างงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งนิสิตจบใหม่ และผู้ว่างงาน จะได้มีงานทำ และรายได้จากโครงการโคก หนอง นา โมเดลดังกล่าว
ด้านนางจิตตานันท์ สุริยะพงษ์ธร อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 28 บ้านโคกแง้ หมู่ 5 ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าตนมีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ซึ่งเป็นที่สูง ดินไม่ค่อยมีคุณภาพ อยู่นอกเขตชลประทาน ที่ผ่านมาทำนา ปลูกไม้ผลและพืชล้มลุก ซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่ประสบปัญหาขาดแคลน น้ำ ในภาวะฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะฤดูแล้ง จึงได้ขุดบ่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้สำหรับรดพืชผลและเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ ยังตั้งเป้ายกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนและเกษตรผสมผสาน เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน จึงสมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา โมเดล
นางจิตตานันท์กล่าวอีกว่า รู้สึกดีใจมาก ที่ทราบว่ารัฐบาลจะได้อนุมัติงบประมาณมาขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวในเร็วๆนี้ ตนและเพื่อนเกษตรกรก็มีความหวังว่าจะลืมตาอ้าปากได้ จากโครงการเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา โมเดล ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล และสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ที่ใส่ใจปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ด้วยการจัดโครงการดังกล่าวลงมาพื้นที่ โดยเน้นยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่าโครวงการดังกล่าว จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของการยกระดับคุณภาพชีวิต มีการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่จะเป็นหนทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

Related posts
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.