ขอนแก่น(ชมคลิป)อธิบดีกรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 63 และการติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ภาคอีสาน

อธิบดีกรมชลประทาน ห่วงสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นเหลือน้อย จึงต้องมีการวางแผนใช้น้ำอย่างประหยัดปลอดภัย ไม่ให้กระทบต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน พร้อมวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563

   วันนี้ (19 ส.ค. 63) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 และการติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5,6,7,8 และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมลำน้ำพอง สำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 3,568  ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,956 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 7,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 1,289 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของแผนการจัดสรรน้ำ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปแล้วกว่า 3 ล้านไร่  ขณะที่สถานการณ์น้ำตามเขื่อนต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ปริมาณกักเก็บของน้ำถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าห่วง แต่สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงเพราะมีปริมาณกักเก็บอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 15 ของความจุอ่าง  และน้อยกว่าปีที่แล้วเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 21 ของความจุอ่าง จึงต้องมีการพิจารณาใช้น้ำอย่างประหยัดและปลอดภัย เพื่อไม่ให้กระทบกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ โดยเน้นการทำงานแบบ “เข้าถึง เข้าพบ เข้าแก้” คือ เข้าถึงและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด    เข้าพบปะประชาชนเพื่อติดตามสอบถามปัญหาในพื้นที่ หากพบปัญหาให้เร่งดำเนินการเข้าแก้ไขปัญหา  การสร้างเครือข่าย อาทิ กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน อาสาสมัครชลประทาน ให้ช่วยเป็นหู เป็นตา และเป็นกระบอกเสียง ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่   การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน  เตรียมพร้อมสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ ตลอดจนบูรณาการการทำงานร่วมกันทางจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น และ กำหนดให้สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ดำเนินการวัดระดับน้ำทุกจุด ทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ในการตรวจวัดระดับน้ำหากเกิดวิกฤติ

คลิป, ในประเทศ

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.