“อินทผลัม” หรือเรียกเป็น” อินทผาลัม”จัดเป็นพืชตระกูลปาล์มมีสายพันธุ์เดิมมาจากแถบตะวันออกกลาง ในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมปลูกทั่วทุกภาคในประเทศไทย เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชไม่กลัวอากาศร้อนและดินแห้งจึงเหมาะที่จะปลูกในประเทศไทยเป็นอย่างมาก และ ปัจจุบันได้มีผู้นำเนื้อเยื่อของอินทผลัมจากต่างประเทศเข้ามาเพาะจำหน่ายในประเทศไทย จึงเป็นที่นิยมปลูกในทุกภาคของประเทศไทย สำหรับอินทผลัมมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่ที่นิมปลูกมากในบ้านเราจะเป็นเนื้อเยื่อสายพันธุ์บาฮี เพราะสายพันธุ์บาฮี สามารถทานสดได้ มีรูปลักษณ์เป็นสีเหลือง อีกทั้งมีรสชาดหวาน มัน กรอบ ลูกสุกก็นำไปอบแห้งไว้ทานระยะยาวได้อีกด้วย
นายอดุลย์ เปไธสง อายุ60ปี บ้านเลขที่293/1 หมู่1 บ้านโสกนกเต็น อ.พล จ.ขอนแก่น เกษตรกรผู้หันมาปลูกอินทผลัม เล่าสู่ฟังว่า ปกติมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ซึ่งการทำนาต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยแรก แต่ภาคอีสานในบางพื้นที่กลับประสบภัยแล้งติดต่อกันมาหลายปี ทำนาก็ได้ผลผลิตกระท่อนกระแท่น ไม่เต็มร้อย ทำให้ต้องดิ้นรนหางานอย่างอื่นขึ้นมาทดแทน จนตนเองต้องทิ้งบ้านเดินทางไปใช้แรงงานที่อื่น เพื่อส่งเงินมาเลี้ยงครอบครัว ที่นาและที่ดินที่ว่างเปล่าอยู่ 7ไร่ ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงได้ให้บุตรชายเข้าไปศึกษาค้นคว้าในอินเตอร์เน็ต หาลู่ทางในการปลูกพืชทดแทนในพื้นที่ว่างเปล่าและแห้งแล้ง จนพบว่ามีพืชสายพันธุ์ปาล์ม”อินทผลัม”ซึ่งเป็นพืชที่ทนความแห้งแล้งมากได้ เหมาะที่จะนำมาปลูกในพื้นที่ดู และ ปัจจุบันเป็นยังพืชผลไม้เศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่นิยมปลูกในประเทศไทย จึงได้ลงมือวางแผนปลูกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ในเนื้อที่ 4ไร่ก่อน จากการศึกษาการขยายพันธุ์ มีอยู่3 วิธี คือ1.วิธีเพาะเมล็ด 2.วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 3.วิธีแยกหน่อจากต้นแม่ ตนเลือกที่จะเพาะพันธุ์ด้วยวิธีเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากการเพาะจากเมล็ดอาจทำให้มีปัญหากลายพันธุ์ และ รสชาติเปลี่ยนไปได้ จึงติดต่อซื้อเนื้อเยื่อ จำนวน 97 ต้น เป็นสายพันธุ์บาฮี โดยนำเนื้อเยื่อมาปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ขนาด150*150*150( กว้าง*ยาว*ลึก)โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์(แกลบดำ ฟาง ขี้ไก่ เพอร์ไรท์) เพื่อปรับสภาพดินใช้เวลา12 เดือน หลังปลูกเนื้อเยื่อจนต้นออกดอกก็มาผสมเกสรเพื่อให้ติดลูก เนื่องจาก อินทผลัม ไม่มี2 เพศในต้นเดียวกัน เราต้องผสมเกสรให้ และ ฉีดฮอร์โมนบำรุงสารอาหารทางใบ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง หลังต้นติดลูกเป็นเม็ดขนาดประมาณเม็ดถั่วเขียว ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด รอระยะเวลาหลังจากนั้นไปอีกประมาณ150 วัน(5เดือน) ผลผลิตก็จะโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ รวมระยะเวลาดำเนินการครั้งแรก จนได้เก็บเกี่ยวดอกผล ประมาณ3 ปี เมื่อผลผลิตโตแก่จัดต้องนำถุงผ้าสปันบอลด์สีขาวห่อหุ้มป้องกันแมลง และใช้ถุงกระดาษชุนฟงสีเหลืองห่อจั่นให้กับหมากผลที่โตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยวเพื่อกันฝน โดยไม่ใช้ฉีดยาฆ่าแมลงจึงเป็นผลไม้ที่ปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์
นายอดุลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนปลูกที่ต้องรอระยะเวลาถึง 3 ปี ถึงจะได้ผลิตผลก็คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากราคาในท้องตลาดของ อินทผลัมสด ยังดีอยู่ ตก 450-500 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่ง ที่ตั้งของ“สวนอินทผลัมมิตรภาพ” ของตน ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลโสกนกเต็น อ.พล จ.ขอนแก่น ในแต่ละวันจะมีลูกค้าจากส่วนกลางเดินทางมารับที่สวนนำไปจำหน่ายต่อ และมีลูกค้าทางไกลสั่งซื้อทางเน็ตให้ส่งทางขนส่งไปให้ อีกทั้งมีลูกค้ารายย่อยจากหลายจังหวัดเดินทางมาเที่ยวชมสวนถ่ายรูปและซื้อติดมือไปรับประทานเองและซื้อไปเป็นของฝากญาติมิตรอีกด้วย ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ บ้านโสกนกเต็น อ.พล แห่งใหม่อีกด้วย ซึ่งตนอยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้การสนับสนุนพยุงราคา และหาตลาดให้เพื่อผลผลิตจะได้ไม่ล้นตลาด และส่งเสริมให้เกษตรกรที่คิดจะปลูกอินทผลัมเป็นอาชีพ ได้มีอาชีพ
ใหม่ขึ้นมารองรับ เมื่อประสบปัญหาภัยแล้ง ถือเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับชุมชนในระยะยาวได้อีกด้วย.
ศิริชัย วนาทรัพย์ดำรง ผู้สื่อข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ จ.ชอนแก่น รายงาน