เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63 บรรยากาศวันหยุดยาวที่หนองคายวันนี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปกราบไหว้รูปเหมือนของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ลูกศิษย์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เภระ และเที่ยวชม สกายวอล์ค แลนด์มาร์คแห่งใหม่ ที่วัดหินหมากเป้ง บ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ตลอดทั้งวัน หลังจากที่ทางวัดฯ ได้สร้างเสร็จและเปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนชาวหนองคาย ขึ้นไปยังสกายวอล์คพื้นกระจกใส แลนด์มาร์คแห่งใหม่ เพื่อชมวิวแม่น้ำโขงสองฝั่งไทย-ลาว
สำหรับสกายวอล์คแห่งนี้ มีความสูงจากโขนหินด้านล่าง ขึ้นมาพื้นสกายวอล์ค 6 เมตร เหนือแม่น้ำโขงประมาณ 10 เมตร ในช่วงระดับน้ำโขงลดต่ำลง สกายวอล์ค จะสูงเหนือน้ำกว่า 20 เมตร สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 1,000 กิโลกรัม หรือสามารถให้นักท่องเที่ยวขึ้นชมได้ประมาณ 20 คน แต่ทางวัดได้กำหนดขึ้นเพียงครั้งละ 10 คน บนพื้นกระจก มองเห็นแม่น้ำโขงอย่างสวยงาม งบประมาณที่ใช้ก่อสร้างเป็นงบของทางวัดโดยไม่ได้ใช้งปประมาณทางราชการ ประมาณหนึ่งล้านกว่าบาท บริเวณสกายวอล์คสร้างบริเวณก้อนหินขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หินหมากเป้ง” ที่ตั้งอยู่เรียงกัน 3 ก้อน
โดย พระครูมงคล ญาณโสภณ เจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง ได้จัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัย แก่นักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากวัดหินหมากเป้ง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่พุทธศาสนิกชนเดินทางมาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาที่วัดให้แต่งกายสุภาพ เรียบร้อย สำรวมกิริยา วาจา อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่เป็นการรบกวนการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และฆราวาสที่มาปฎิบัติธรรมภายในวัด
สำหรับ วัดหินหมากเป้ง เป็นวัดที่ร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้ นานาชนิด เงียบสงบ และมีพื้นที่ติดกับลำน้ำโขง สามารถมองเห็นวัดถ้ำพระ สปป.ลาว ที่อยู่ตรงข้ามได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคอีสาน เรียกว่าพระสายป่า ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เถระ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ และผู้แสวงบุญทั้งหลาย หลังจากท่านมรณภาพมีการก่อสร้างเจดีย์ เพื่อบรรจุอัฐของท่าน ภายในมีรูปปั้นของหลวงปู่เทสก์ เครื่องอัฐบริขารและชีวประวัติของหลวงปู่ และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. 2523 หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธาในการอบรมสั่งสอนธรรมและนำสร้างศาสนสถานเพื่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชนียาจารย์ของชนทุกระดับชั้น
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากตัวเมืองหนองคาย ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ศรีเชียงใหม่) ประมาณ 75 กิโลเมตร วัดหินหมากเป้งจะอยู่ทางขวามือ ห่างจากตัวอำเภอศรีเชียงใหม่ ประมาณ 30 กิโลเมตร หินหมากเป้ง เป็นชื่อหิน 3 ก้อน ซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขงด้านทิดเหนือของวัด มีรูปลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยโบราณ คนพื้นถิ่นนี้เขาเรียกว่า เต็งหรือเป้งยอย (หมากเป้งเป็นผลของต้นไม้ตระกูลปาล์มหรือหมากชนิดหนึ่ง) ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าหินก้อนที่ 1 เป็นของหลวงพระบาง หินก้อนที่ 2 เป็นของบางกอก ส่วนหินก้อนที่ 3 เป็นของเวียงจันทน์ หินทั้ง 3 ก้อน จะมองเห็นได้เฉพาะในมุมมองจากแม่น้ำโขงหรือมุมมองจากลาว