ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเชิญ หน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำพอง จ.ขอนแก่น ชาวบ้านภูเขาวง อ.อุบลรัตน์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ทำการสร้างบ้านปลา หรือเยาะปลา (ตามภาษาถิ่น) เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดภายในเขื่อนอุบลรัตน์ บริเวณท้ายเขื่อนฯ หลังจากน้ำเขื่อนได้ลดปริมาณลงอย่างมากในรอบ 50 ปี
นายอภิเดช หมื่นน้อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง เผยว่า หลังจากที่มีการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์มาตั้งแต่ปี 2507-2509 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 53 ปี น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้อยลงตั้งแต่ก่อสร้างมา ทำให้ปลาที่มีอยู่เมื่อก่อนหาจับได้ยาก ถูกจับได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ปลาบางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ ทางอุทยานฯ ได้เห็นชาวบ้านหมู่บ้านภูเขาวง ได้ทำวังปลา เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ไม่จับปลาในช่วงฤดูวางไข่ ทำให้มีการขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจงได้ร่วมกับชาวบ้านภูเขาวง ทำการอนุรักษ์ปลาแบบภูมิปัญญาชาวบ้านทำวังปลา โดยการนำไม้ที่เป็นกิ่งใหญ่ หรือหนามไม้ไผ่ นำไปกองรวมกันในน้ำ โดยใช้หลักยึดไว้กับพื้น เพื่อให้กุ้งหอยปูปลาได้เป็นที่วางไข่ และหลบสัตว์น้ำที่จะจับเป็นอาหาร
หลังจากที่ได้ทำวังปลา หรือบ้านปลา ปรากฏว่าได้เพิ่มจำนวนปลาขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยสังเกตจากการออกตรวจของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในเวลากลางคืน เมื่อส่องไผลงไปจะเห็นปลากระโดดขึ้นจากผิวน้ำเพื่อเล่นแสงไฟเยอะมาก ในส่วนของการลักลอบจับปลา คนในพื้นที่จะร่วมมือกันเป็นอย่างดี เนื่องจากบริเวณที่ได้จัดทำเป็นวังปลา มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ได้มีธงปักไว้ ห้ามเข้ามาจับปลาในเขตที่กันไว้เป็นพื้นที่หวงห้าม โดยมีแนวเขตของอุทยานฯ รวมกับเขตของหมู่บ้านภูเขาวงมากกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่จะทราบกันเป็นอย่างดีว่าบริเวณไหนเป็นเขตหวงห้าม ส่วนชาวบ้านจากต่างถิ่น ถ้านำเครื่องมือหาปลาทางอุทยานฯ ก็จะทำการเปรียบเทียบปรับ ตามกฎหมายของอุทยานแห่งชาติ
สำหรับชนิดของปลาที่อยู่ในเขื่อนอุบลรัตน์ จากการสำรวจไว้มีมากกว่า 70 ชนิด เป็นปลาหนัง เช่นปลาเนื้ออ่อน ปลาคัง ปลาสวาย รวมทั้งปลาบึก ส่วนปลามีเกล็ด ก็จะเป็นจำพวก ปลานิล ซึ่งมีจำนวนมาก ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาสร้อย โดยปลาบางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ เช่นปลาก่า (อีก่ำ) และปลานกเขา โดยชาวบ้านที่ทำการปะมได้แจ้งว่าหาไม่เจอแล้ว ห่วงว่าจะสูญพันธุ์ เป็นได้
ดังนั้นในการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านโดยการทำวังปลา หรือบ้านปลา จะส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณปลาในเขื่อนอุบลรัตน์เป็นจำนวนมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของประชาชน และสร้างรายได้ให้กับพี่น้องที่ทำอาชีพประมงในเขื่อนอุบลรัตน์ได้ โดยจะได้ทำการขยายผลให้กับชาวบ้านหมู่บ้านอื่น ในเขตอำเภอหนองเรือที่อยู่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ร่วมมือกันทำวังปลาเพื่อให้ปลาได้มีที่อยู่ และจำได้มีปริมาณปลาให้จับได้จำนวนมาก
ทางด้านนายจันที ดวงสำราญ ผู้ใหญ่บ้านภูเขาวง หมู่ที่ 10 ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่าชาวบ้านภูเขาวงประกอบอาชีพประมงเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมด ปัญหาในการทำประมงหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนฯเสร็จ ชาวบ้านทำการจับปลาอย่างเดียว ทำให้ปริมาณของปลาไม่เพิ่มปริมาณ มีแต่ลดปริมาณลง ทำให้จับปลาได้น้อยลง รายได้ก็น้อยลง ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งทิ้งอาชีพประมงไป ตนเองในฐานะผู้นำหมู่บ้าน จากการที่ได้ไปศึกษาดูงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แนวทางก็ได้ทำการชักชวนชาวบ้านทำการอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยการสร้างบ้านปลา หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “เยาะปลา” โดยเริ่มจากปี 2553 เป็นระยะเวลาร่วม 10 ปีผ่านมา
ผลผลิตเป็นที่พอใจ ปลาเพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่ทิ้งอาชีพประมงไปรับจ้าง กลับมาอยู่กับครอบครัว สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างไม่เดือดร้อน โดยชาวบ้านภูเขาวงได้สร้างมาตรการในการดูแลรักษาเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาของหมู่บ้าน โดยในวันนี้ได้ร่วมกับอุทยานฯทำการนำกิ่งไม้มาเพื่อสร้างวังปลา หรือบ้านปลา ร่วมกัน โดยถือว่าเป็นแหล่งที่ 2 ของแนวเขตอนุรักษ์ โดยจุดแรกอยู่บริเวณใกล้กับหมู่บ้านภูเขาวง ดังนั้นจึงใคร่อยากเชิญชวนให้หมู่บ้านที่อยู่รอบเขื่อนอุบลรัตน์ ได้ร่วมมือกันทำวังปลา สองหมู่บ้าน 1 เขต หรือหมู่บ้านละเขตอนุรักษ์ จะทำให้มีปลาจับได้ตลอดทั้งปี ผู้ใหญ่บ้านภูเขาวงกล่าวไว้ในที่สุด
สำหรับการทำวังปลา หรือบ้านปลานั้น ชาวบ้านได้นำกิ่งไม้ทั้งสดและแห้ง นำลงเรือเพื่อไปวางยังบริเวณที่มีตอไม้ หรือปักหลักสร้างขึ้นมาใหม่ จากนั้นได้นำกิ่งไม้นำไปวางตรงกลางที่ปักเสาล้อมเป็นวงไว้ ใช้เชือกมัดกิ่งไม้ไว้ป้องกันการถูกน้ำพัดแตกจากกัน เพื่อเป็นสถานที่อยู่ของปลา หรือสัตว์น้ำอื่นๆ ทำการขยายพันธุ์ต่อไป