ณ วัดนาคประดิษฐ์มีชัย บ้านท่าสำราญ ต.เฝ้าไร่ อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย นายพงษ์พิพัฒน์ สุระขันธ์ นายกสมาคมวิทยุกระจายเสียงและสื่อสารมวลชนจังหวัดหนองคาย, นางพงษ์ลัดดา สุระขันธ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์วัดนาคประดิษฐ์มีชัย และชาวบ้านบ้านท่าสำราญ ร่วมกันทำพิธียกเสาหอระฆังและหอโปง เก่าที่ทำด้วยต้นตะเคียนอายุราว 200 กว่า ปี จำนวน 4 ต้น ความยาวต้นละประมาณ 10 เมตร ขึ้นเก็บรักษาไว้ภายในศาลที่สร้างขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านที่ทราบข่าวทั้งใกล้และไกลต่างทยอยกัน เดินทางมากราบไหว้ขอพรตามความเชื่อ และใกล้กันยังพบบ่อน้ำโบราณ(น้ำส่าง)อายุใกล้เคียงกันมีน้ำตลอดทั้งปี และเป็นบ่อน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงในพื้นที่ อ.เฝ้าไร่ใช้ดื่มกินมาตั้งแต่ครั้งอดีต ทั้งยังเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำที่มีตำนานเล่าขานต่อๆกันมาว่าเชื่อมต่อระหว่างบ่อน้ำที่คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี และยังเชื่อว่าเป็นทางขึ้นลงของพญานาคระหว่างคำชะโนดกับห้วยคำมิด
การทำพิธียกหอระฆังและหอโปงต้นตะเคียนครั้งนี้ เนื่องจาก นายพงษ์พิพัฒน์ สุระขันธ์ นายกสมาคมวิทยุกระจายเสียงและสื่อสารมวลชนจังหวัดหนองคาย, นางพงษ์ลัดดา สุระขันธ์ ได้มาสร้างกุฎิให้พ่อที่บวชแก้บน แล้วไม่ยอมสึก และจะจำพรรษาที่วัดดังกล่าว จึงได้รวบรวมเงินมาสร้างกุฎิขึ้นถวาย จากนั้นก็ได้พากันทำความสะอาดปรับพื้นที่บริเวณป่าหญ้า จนไปพบเข้ากับเสาหอระฆังและหอโปงเก่า ดังกล่าว จึงได้ถามพระสงฆ์ภายในวัด ทราบว่าเป็นต้นตะเคียนเก่าแก่ที่คนรุ่นทวด รุ่นปู่ นำมาสร้างหอระฆัง จากนั้นนายพงษ์พิพัฒน์ และนางพงษ์ลัดดา สุระขันธ์ ด้วยความเป็นครูจึงมีแนวคิดจะเก็บรักษาไว้ไห้คนรุ่นหลังได้ดูได้ศึกษา จากนั้นได้เดินทางกลับ กรุงเทพฯ และได้ฝันเห็นคนแก่ไปหาและบอกเลขจึงได้นำไปเสี่ยงโชคปรากฏถูกหวยเลขท้าย 3 ตัวบน และ2 ตัว ติดกัน 3 งวด จากนั้นได้เดินทางกลับมาหารือกับชาวบ้านและพระสงฆ์ ว่าจะสร้างที่เก็บรักษา และได้บำรุงรักษาบ่อน้ำไปด้วย ซึ่งหอระฆังและหอโปง ในชนบทของอีสานนิยมใช้ “โปง,ระฆัง” ตีบอกเวลาในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เป็นการสื่อสารกัน ระหว่างพระที่วัดกับชาวบ้าน หอระฆังหอโปง ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ จนมาถึงปัจจุบัน
ทางด้านพระสงฆ์ ที่จำพรรษา ที่วัด กล่าวว่า ตนเกิดมาก็เห็นหอระฆังและหอโปงนี้มาตลอด และเก่ามากมีปลวกขึ้นกัดกินเกรงจะโค่นล้มลงทับผู้คนที่เดินทางมาทำบุญที่วัด จึงได้ปรึกษากับหลายๆฝ่าย เพื่อรื้อลงมาและย้ายออกเพื่อสร้างใหม่ด้วยปูน ที่แปลกมากคือ เมื่อรื้อแล้วก็นำต้นเสาตะเคียนไปเก็บไว้ที่ข้างรั้ววัดด้านหลัง อยู่มาไม่นานก็มีเหตุต้องย้ายมาเก็บไว้ใต้ศาลาการเปรียญ และยังไม่เท่าไหร่ ก็มีเหตุให้ต้องย้ายเสาหอระฆังต้นตะเคียนออกอีกครั้ง มาไว้ที่เดิมและทิ้งไว้ตามธรรมชาติมานานโดยไม่มีใครสนใจที่แปลกอีกอย่าง เคยเกิดไฟไหม้ป่า แต่เสาตะเคียนไม่ถูกไฟไหม้ จนในที่สุดเมื่อนายพงษ์พิพัฒน์ และนางพงษ์ลัดดา ฯ มาพบเข้ามีบางอย่างเกิดขึ้น จึงเชื่อว่ามีเจ้าแม่ตะเคียนแน่ จึงปรึกษาหารือกับพระสงฆ์ในวัด ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ในการทำพิธีตามความเชื่อเชิญต้นตะเคียนทั้ง 4 ต้นขึ้นเก็บรักษา ภายในศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ โดยมีชาวบ้าน เข้ากราบบูชาขอเลขไปเสี่ยงโชคตามความเชื่ออย่างไม่ขาดสาย :ฤาษีลภ-ปวีณา//จ.หนองคาย