ทั่วไทย-กมธ.กีฬา สภาผู้แทนฯเตือนจุฬาฯอย่าทุบสนามศุภชลาศัย หวั่นกระทบจิตใจคนวงการกีฬา

รัฐสภา-เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.)411 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 มีคณะกรรมาธิการกีฬา,ที่ปรึกษาฯ เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

การพิจารณาครั้งนี้ประเด็นสำคัญเป็นปัญหาข้อพิพาทที่ตั้งของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขอคืนพื้นที่จากกรมพลศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 2563เป็นต้นมาปรากฏมีสนามเทพหัสดิน สนามวอร์ม 200 เมตร,อาคารนิมิตรบุตร สระว่ายน้ำวิสุทธารมณ์และในปี 2565 ทางจุฬาฯจะขอคืนพื้นที่ทั้งหมด ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียน ที่ผ่านมาปรากฏมี ดร.อมรทัตต์ อัคคะพู อดีต ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรการพลศึกษาและการกีฬา กรมพลศึกษา(เป็นผู้ร้อง)และ ดร.กิตติพงษ์ โพธิมู อดีต อธิบดีกรมพลศึกษา เป็นผู้ถวายฎีกา คัดค้าน ซึ่งวันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.บัญฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบให้ นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผอ.สำนักงานจัดการทรัพย์สินพร้อมคณะมาชี้แจง

ปัญหาข้อพิพาทระหว่าง กรมพลศึกษาฯกับจุฬาลงกรณ์ฯ บรรยากาศมีการพูดคุยและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งกรมพลศึกษาฯระบุว่าปัญหานี้เกิดจากสัญญาเช่าปีต่อปีซึ่ง สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯมีให้กับกรมพลศึกษาฯ นับจากอดีตถึงปัจจุบันจึงทำให้ กรมพลศึกษาฯไม่สามารถที่จะพัฒนาปรับปรุงที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินได้ ขณะที่ผู้แทนจากฝ่ายจุฬาลงกรณ์ฯยืนยันว่าทุกอย่างเกิดขึ้นตามแผนการจัดการทรัพย์สินของทางจุฬาฯเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีประโยชน์สูงสุด

นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผอ.สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พื้นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่กว่าหนึ่งพันไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ราชการ 70% ส่วนอีก 30% เป็นพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ คำว่าขอคืนพื้นที่นั้น เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ที่เช่าโดยกรมพลศึกษาฯ ยังใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ที่ผ่านมา จุฬาฯจึงจัดการให้คืนพื้นที่แล้วตั้งแต่ เดือน ตุลา 62 ซึ่งที่ผ่านมา จุฬาฯได้ ปรับปรุงเปลี่ยนหญ้าใหม่ เพื่อให้เป็นที่ของสังคม ระยะเวลาที่คืนมาแต่ละจุดจึงเป็นการพัฒนาเพื่อประชาชน
“คำถามว่า ถ้าได้คืนมาจะเอาไปทำอะไร ยืนยันว่าทรัพย์สินของจุฬานั้นต่อการพัฒนา จุฬาเอาสังคมเป็นตัวตั้ง หากมีการคืนพื้นที่ครบ ทั้งยังรวมถึงสนามศุภชลาศัย พื้นที่นี้ก็จะเป็นแหล่งการออกกำลังกายตั้งอยู่ใจกลางเมืองให้มีความทันสมัยที่สุด ซึ่งจุฬาฯ กำลังให้มีการออกแบบทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นสนามศุภชลาศัยก็ต้องเป็นสนามกีฬาแห่งชาติจริงๆ และให้เกิดแลนมาร์ค ให้มีคนมาเที่ยวเพื่อเทียบเท่ากับต่างชาติมาตรฐาน FIFA การคืนพื้นที่จึงเป็นการรักษาคอนเซ็ปนี้ เจตนาการคืนพื้นที่เรามีเจตนาดี เพราะเราคิดพัฒนาให้มีคุณค่าและดีที่สุดต่อประชาชน”

ดร.ประพัน ไพรอังกูร รองอธิบดีกรมพลศึกษ กล่าวว่า การออกมาคัดค้านไม่ใช่ว่าจะไม่ยอมหรือยอมรับเพราะที่ดินที่เช่านั้นเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฏหมายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากการเคลื่อนย้ายกรมพลศึกษาไปสนามกีฬาคลอง6 ยังต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาพื้นที่อีกจำนวนมาก เนื่องจากสนามกีฬาคลอง6 ถูกสร้างมาเพื่อเป็นศูนย์ฝึกกีฬามิใช่สถานที่ปฏิบัติราชการจึงเห็นว่าหากมีการขยายเวลาออกไปจนกรมพลศึกษามีความพร้อมในสถานที่ใหม่ ก็พร้อมจะดำเนินการตามแผนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริญโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอให้ได้มีการบันทึกความเห็นข้อมูลข้อเท็จจริงของทั้งฝ่ายผู้ร้องฝ่ายกรมพลศึกษาและฝ่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ในบันทึกการประชุม โดยข้อสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรขอให้กรมพลศึกษาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปประชุมเจรจาถึงแผนพัฒนาพื้นที่ร่วมกันต่อไป ทั้งนี้คณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกันการคืนพื้นที่สนามศุภชลาศัยแล้วจะนำไปทุบหรือทำลายเนื่องจากเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ทางการกีฬาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในวงการกีฬา

 

“ทราบว่าเรื่องนี้ได้มีการถวายฎีกาไปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯแล้ว ซึ่งกำลังอยู่ในพระราชวินิจฉัย ในส่วนของคณะกรรมาธิการกีฬา สภาาผู้แทนราษฎร จะก้าวล่วงในเรื่องนี้ไม่ได้ จึงขอให้เป็นเรื่องความตกลงในการแก้ไขปัญหาเพื่อถวายรายงานต่อองคมนตรีตามขั้นตอนต่อไป”ส.ส.ดร.บุญลือ กล่าวในที่สุด

เครดิต : thaipbs.or.th