ชาวด่านซ้ายชวนร่วม “ประเพณีแห่ข้าวพันก้อน” พลังศรัทธาบารมีสู่ปีใหม่
ตามความเชื่อของคนอีสาน การแห่ข้าวพันก้อน เป็นประเพณีที่ทำขึ้นต่อเนื่องจาก บุญผะเหวด เป็นวันสุดท้ายของงานบุญประเพณี สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง เป็นการบูชาพระคุณ พระพุทธเจ้า มีโอกาสได้มานั่งฟังธรรมหนึ่งพันพระคาถา อีกทั้งได้นำข้าวมาร่วมท่าบุญ และน่าส่วนหนึ่งกลับไปบูชาที่บ้าน ส่วนที่เหลือส่วนหนึ่งจะช่วยกัน นำมาทำขนมเพื่อต้อนรับผู้มาร่วมงาน โดยเชื่อว่าการทำบุญนี้จะช่วยให้ชีวิตมีความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพ มีโชค ลาภ และมีความสุขความเจริญ อีกทั้งยังได้เป็นการสืบทอดประเพณีการแห่ข้าวพันก้อน นี่ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้เข้าร่วมงานแห่ข้าวพันก้อน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว เนื่องจากพิธีเริ่มแต่เช้ามืด
แต่ที่อำเภอด่านซ้าย จะปฏิบัติตาม ตามจารีตฮีตคองของวัฒนธรรมประเพณีล้านช้างที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ตาม “ฮีตสิบสอง” ของบุญเดือนสี่ หรือประเพณีบุญพะเหวด จะพิเศษและแตกต่างจากที่อื่น คือ “แห่ข้าวพันก้อน” นำข้าวที่ปั้นเป็นก้อนกลมขนาดพอดีคำ ไปถวายแด่พระธาตุศรีสองรัก และพระนาคปรกกายสิทธิ์ รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาเมืองด่านซ้าย (หากโดยประเพณีที่อื่นนั้นจะเป็นการถวายข้าวพันก้อนเพื่อเป็นพุทธบูชาตามวัดต่างๆในเวลากลางวัน)
“ประเพณีแห่ข้าวพันก้อน” ด่านซ้าย เริ่มต้นในช่วงเช้ามืดเวลา 04.00 น. วันที่ 16 เมษายน 2568ต้อนรับปีใหม่ไทย (หลังจากวันสงกรานต์หนึ่งวัน) เจ้าพ่อกวน พ่อแสนและลูกผึ้งลูกเทียนประชาชนจะเดินถือ เทียนเวียนหัว(เทียนทำจากขี้ผึ้งแท้มีความยาวเท่ารอบศรีษะ) พร้อมขันข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ดอกไม้สักการะบูชาองค์พระธาตุ เดินเท้าเริ่มต้นขบวนจากบ้านเจ้าพ่อกวน มาทางบ้านเจ้าแม่นางเทียมตามเส้นทางโบราณครั้งในอดีต จนถึง”หอหลวง” ทำพิธีคารวะดวงจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ แล้วจึงเดินไปสู่องค์พระธาตุศรีสองรัก(ประตูหลังในปัจจุบัน) ขบวนแห่เป็นขบวนยาวที่มีแสงสว่างไสวนำทางไปจนถึงพระธาตุศรีสองรัก มีประชาชนบางส่วนมานั่งรอที่ประตู(ด้านหลังในปัจจุบัน) อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เดินต่อขบวนตามเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม เข้าสู่พระธาตุศรีสองรัก พร้อมเวียนขวา 3 รอบ
เจ้าพ่อกวนและคณะพ่อแสนนำประกอบพิธีบูชาคารวะธาตุและถวายข้าวพระธาตุศรีสองรัก และพระนาคปรกกายสิทธิ์ ชาวบ้านลูกผึ้งลูกเทียนต่างนำข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อนคนละก้อน ผู้ชายถวายด้านในองค์พระธาตุ ส่วนผู้หญิงวางรอบๆกำแพงแก้วขององค์พระธาตุศรีสองรัก จนเกิดเป็นที่มาของประเพณีนี้ว่า “แห่ข้าวพันก้อน” ถือเป็นการสืบสานประเพณีศักดิ์สิทธิ์งดงามทรงคุณค่าที่สืบทอดมายาวนานหลายร้อยปี เพื่อถวายข้าวเหนียว พระธาตุศรีสองรักและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง รับพรสร้างพลังแก่ชีวิตและจิตใจให้มีความสุข ความสำเร็จ ทำสิ่งใดก็ประสบแต่ความสุขสำเร็จ ในวันเริ่มต้นศกศักราชปีใหม่ตลอดปีตลอดไป
ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์ / จ.เลย
