กมธ.ปปช.ฯ เรียก ช่างคุมงาน-สตง.-ผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทยถก “ตราบาป 7 ชั่วโคตร” ก่อสร้างโฉ่รอบ 2 ย้ำเงินภาษีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ แฉ ผู้ร้องสอบตามสิทธิรัฐธรรมนูญ คก.โฉ่ อยู่กันลำบากเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายตรวจสอบร่วมกัน
ต้องชัดเจน!ดร.ฉลาด ขามช่วง ปธ.กมธ.ปปช.ฯ ร่อนหนังสือด่วนถึง ช่างผู้ควบคุมงาน 8 โปรเจกท์ยักษ์ มหากาพย์ 7 ชั่วโคตร ตราบาปแห่งเมืองน้ำดำ ถกรอบ 2 จี้ สตง. เร่งสอบปัญหาคลายทุกข์ให้คนกาฬสินธุ์พร้อมเชิญผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทย เขต 12 รายงานปัญหา ด้าน ขุนพลอีสาน สุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุการสอบ 7 ชั่วโคตรไม่ใช่ปัญหาธรรมดามีประชาชน พระ ผู้นำท้องถิ่นถูกข่มขู่ ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการปกป้องภาษีแผ่นดิน ให้จับตาเอกสารกรมโยธาฯส่ง กมธ.ฯ 24 ม.ค.และผลการพิจารณากรมบัญชีกลาง ให้ 2 หจก.ขาใหญ่ เป็นผู้รับเหมาทิ้งงานก่อนสิ้นเดือนนี้จริงหรือไม่
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการ ปปช.สภาผู้แทนราษฎร และ นายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษา ปธ.กมธ.ปปช.ฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามตรวจสอบปัญกาการก่อสร้างโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ และ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี – ลำน้ำพาน – ลำน้ำปาว จำนวน 8 โครงการ งบประมาณ 545 ล้านบาท ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่ได้สร้างปัญหาให้กับชาวกาฬสินธุ์และกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน เนื่องจาก ผู้รับจ้าง ที่ กรมโยธาฯ ว่าจ้างมา ไม่สามารถก่อสร้างให้เสร็จแม้แต่โครงการเดียว จนถูกชาวกาฬสินธุ์ ว่าเป็น การก่อสร้างโครงการ 7 ชั่วโคตร เบื้องต้นพบว่าโครงการทั้งหมดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นกลุ่มผู้รับจ้าง 2 หจก. ประกอบด้วย หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ มีพฤติกรรมทิ้งงานก่อสร้าง และถูก กรมโยธาฯประกาศยกเลิกสัญญาไปในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา แต่พบว่าการติดตามตรวจสอบโครงการรวมถึงการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและกลุ่มผู้รับจ้าง ประกอบกับการเร่งรัดเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้รับจ้างและจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดแจ้ง
ดร.ฉลาด ขามช่วง ปธ.กมธ.ปปช.ฯ กล่าวว่า ปัญหานี้ กมธ.ปปช.ฯ จะดำเนินการตรวจสอบให้ถึงที่สุด โดยในวันที่ 16 มกราคมนี้ ที่ห้องประชุม กมธ.ปปช.ฯ ได้เชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาชี้แจงอีกครั้ง ที่จะประกอบไปด้วยผู้ร้องเป็นตัวแทนประชาชน (นายกเทศบาลตำบลเจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์) ผู้ควบคุมงานโครงการทั้ง 8 โครงการ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 12 เพื่อรับทราบปัญหาและแนวทางในการปฏิบัติต่อการตรวจสอบติดตามเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ติดตามปัญหานี้ได้รับทราบว่า กมธ.ปปช.ฯ จะเดินหน้าตรวจสอบให้อย่างเต็มที่ และเมื่อผลออกมาชัดเจนก็จะนำปัญหานี้สรุปส่ง สภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึง องค์กรอิสระพิทักษ์แผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็น ปปช. – สตง. – ปปท. ต่อไป
“การนำปัญหานี้มาพิจารณาในคณะกรรมาธิการ ปปช.ฯ ถือเป็นครั้งที่สอง ซึ่งก่อนหน้าได้นำปัญหานี้มาพิจารณาไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ห้องประชุม กมธ.ปปช.ฯ แต่ยังไม่มีความชัดเจนต่อกระบวนการตรวจสอบของ กรมโยธาธิการฯ รวมถึง กรมบัญชีกลาง และองค์กรอิสระ ปปช.- สตง. ที่เป็นข้อสงสัยว่าทำไมถึงล่าช้า ไม่เหมือนกับการตรวจสอบผู้รับจ้างทิ้งงานรายอื่นๆ การติดตามสอบถามในการประชุมในวันที่ 16 มกราคม จะเป็นการสอบถามปัญหาในพื้นที่เพื่อความกระจ่างทั้งหมด ขอให้พี่น้องประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ติดตาม กมธ.ปปช.ฯ ยืนยันว่าเงินภาษีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ และจะทำหน้าที่เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป“ ดร.ฉลาด กล่าวในที่สุด
นายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีต รองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษา ประธาน กมธ.ปปช.ฯ กล่าวว่า ข้อสังเกตส่วนตัวมองว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาการตรวจสอบธรรมดา เนื่องจากความต้องการของชาวบ้านและประชาชนผู้เสียภาษีต้องการให้ กรมโยธาฯ ดำเนินการก่อสร้าง ตามโครงการที่วางเอาไว้ การเรียกร้องแทนที่จะได้รับการแก้ไขเป็นคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน แต่กลับมีข่าวว่า ผู้ร้องเรียนไม่ว่าจะเป็นประชาชน พระ ผู้บริหารท้องถิ่นในแต่ละจุดโครงการกลับได้รับผลกระทบ ผู้ร้องเรียนยังถูกข่มขู่ไปต่างๆนานา ทั้งที่การเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อเป็นการปกป้องเงินภาษีประชาชน ทำให้วันนี้ชาวกาฬสินธุ์ผู้ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากโครงการ 7 ชั่วโคตรอยู่กันลำบาก สังคมไม่ปกติสุขเหมือนเดิม จึงขอให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองลงพื้นที่มาช่วยกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ไปพร้อมๆกันด้วย กรณีเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นอีกมากมายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งปรากฏตามคำร้องของประชาชนส่งมาถึง กมธ.ปปช.ฯ ให้ดำเนินการตรวจสอบอีกหลายจังหวัด
ด้านแหล่งข่าวระดับสูง ระบุว่า การติดตามตรวจสอบของ ดร.ฉลาด ขามช่วง ปธ.กมธ.ปปช.ฯ ถือได้ว่าเดินมาตามหลักกฏหมายด้วยอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ฯ และถือว่ายังให้โอกาสต่อกรมโยธาธิการแลผังเมืองในการนำเอกสารชี้แจง โดยเฉพาะการที่ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รอง ปธ.กมธ.ปปช.ฯ ได้เรียกเอกสารทั้งหมดตามข้อสงสัย 8 ข้อ ที่กำหนดในการประชุมครั้งแรกให้ กรมโยธาฯ ส่งเอกสารในวันที่ 24 มกราคมนี้ ทั้งนี้รายละเอียกของเอกสารดังกล่าวประกอบด้วย 1.เอกสารการเริ่มต้นสัญญาทั้งหมด 2.เอกสารการขยายเวลาในการก่อสร้างแต่ละโครงการว่าขยายเวลากี่ครั้งในแต่ละครั้งด้วยเหตุผลอะไร 3.เอกสารเหตุผลในการยกเลิกสัญญา 4.เอกการการประเมินค่าความเสียหายระหว่างการทำงานและการทิ้งงาน 5.เอกการเกี่ยวกับการเรียกค่าความเสียหายจากผู้รับจ้าง 6.เอกสารรายละเอียดการเบิกจ่าย 15%ในแต่ละโครงการ ทำอย่างไร มีการคืนเงินในช่วงที่เบิกจ่ายหรือไม่ 7.เอกสารบันทึกประจำวันของ กรรมการผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ต่อการทำงานทั้งหมด 8.เอกสารหรือผลการที่ กรมโยธาธิการฯ ได้ดำเนินการทางปกครองอย่างไรกับ 2 หจก.ที่ทิ้งงานไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเอกสารทางปกครองหรือการฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายคืนให้กับแผ่นดิน
“การตรวจสอบที่มีทิศทางจะทำให้เข้าใจปัญหาการทิ้งงาน แต่สิ่งที่ยังทำให้ชาวกาฬสินธุ์สงสัยก็คือประเด็นการปล่อยปละละเลยในการเยี่ยวยาประชาชนของผู้บริหารจังหวัดที่นิ่งเฉยต่อความเดือดร้อนจากเศษกองขยะ บ่อน้ำสกปรก เสาเข็ม เหล็กแหลม ที่เปิดทิ้งไว้ตามท้องถนนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ รวมถึงเสาเข็ม เหล็กแหลมที่ทิ่มแทงใจประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณการก่อสร้าง รวมถึงผู้รับจ้างในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างจาก ”ผู้รับจ้าง“ทั้ง 2 หจก.นี้ ประกอบกับความชัดเจนในการประกาศเวียนห้าตามระเบียบพัสดุของ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เนื่องจากยังพบว่า 2 หจก.นี้ ยังไปใช้ช่องว่างทางกฏหมายระเบียบพัสดุ ไปประมูลงานได้อีกในหลายพื้นที่ ดังนั้นหาก กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ประกาศเวียนห้างได้ก่อนสิ้นเดือนมกราคมนี้ ประเด็นที่น่าจับตาคือ การที่ หจก. ถูกประกาศเป็นผู้ทิ้งงานแต่เมื่อไปประมูลงานได้อีก แต่ได้ถูกประกาศเวียนห้างโดยกรมบัญชีกลางในภายหลัง จะต้องถูกยกเลิกงานที่ผ่านการประมูลมาทั้งหมดด้วยหรือไม่”
แหล่งข่าวคนเดียวกันระบุด้วยว่า การประชุมติดตามปัญหา 7 ชั่วโคตร โดย กมธ.ปปช.ฯในวันที่ 16 มกราคมนี้ คาดว่าปัญหาทั้งหมดจะยังไม่สรุปชัดเจน เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบยังไม่ครบถ้วน ดังนั้นองค์กรอิสระที่พิทักษ์เงินแผ่นดิน โดยเฉพาะ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ควรที่จะมีคำตอบในเรื่องนี้เพราะเกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่โดยตรง ในส่วนของ ปปช.-ปปท. ก็ควรที่จะสร้างความชัดเจนต่อกระบวนการตรวจสอบ เมื่อพบความผิดปกติก็ควรที่จะเข้าทำการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ด้วยเช่นกัน อีกประเด็นที่มำให้ผู้ร้องเรียนเป็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอึดอัดใจก็เพราะมีความพยายามในการปกปิดปัญหาที่ไม่ต้องการให้ผู้ร้องออกมาเคลื่อนไหวค้นหาความจริงปัญหานี้ยังทำให้คนกาฬสินธุ์อยู่กันลำบาก แต่ก็ยังดีที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 ,นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 และ นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 3 รวมไปถึง นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 คอยประคับประคองจิตใจชาวบ้านและยังช่วยดูและติดตาม ทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้รู้ข้อเท็จจริง ทั้งนี้พื้นที่การก่อสร้างได้ครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย ที่เชื่อว่าในอนาคตปัญหาทั้งหมดจะกระจ่างชัดและได้รับการคลี่คลายได้ทั้งหมด
