พบผู้สูงอายุ บ้านพุทธรักษา ตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้เวลาว่างในฤดูแล้งรวมกลุ่มไพหญ้าคาคุณภาพดีไว้จำหน่าย สร้างรายได้งาม ขายได้ตลอดปี มีลูกค้าทั่วไป มารับซื้อถึงที่ตลอดปี โดยเฉพาะช่วงปลายปีต้อนรับปีใหม่ ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ขยายกิจการรับนักท้องเที่ยวปีใหม่ ส่งออเดอร์เข้ามารับซื้อเป็นจำนวนมาก ทำเงินในช่วงนี้วันละ 3,000-7,000 บาททีเดียว
วันที่ 20 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในฤดูแล้ง และในช่วงปลายเดือนธันวาคม ที่เข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ส่วนใหญ่จะว่างงาน ไม่เหมือนกับพื้นที่รับน้ำชลประทาน ที่จะมีการทำนาปรังและปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งนี้ ได้พบกลุ่มผู้สูงอายุบ้านพุทธรักษา ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด ได้มีการรวมกลุ่มทำไพหญ้าคาเพื่อการจำหน่าย สร้างรายได้ ยิ่งในช่วงปลายเดือนธันวาคม ที่เข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ มีลูกค้า ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวมารับซื้อถึงที่ ทำให้บรรยากาศการซื้อขายมีความคึกคักเป็นพิเศษ
นางสังวาลย์ จงอ่อนกลาง อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ 4 บ้านพุทธรักษา ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน การประกอบอาชีพทำนาต้องอาศัยน้ำเป็นหลัก ส่วนใหญ่ทำการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ที่ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้ดี ที่ผ่านมาในฤดูแล้งจะว่างงานกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มีหน้าที่เฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน ดูแลคนไข้คนเจ็บป่วยในบ้านเท่านั้น เวลาว่างจึงมีมากกว่าเวลาทำงานอย่างอื่น
นางสังวาลย์กล่าวอีกว่า ตามภูมิศาสตร์พื้นที่เป็นที่ราบสูง ไม่มีระบบชลประทาน ผู้คนในชุมชนจึงมีเวลาว่างกันมากดังกล่าว และจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ที่พักอาศัยหรือที่พักผ่อนตามหน้าบ้านชานเรือนมุงหลังคาด้วยสังกะสี ถึงแม้จะมีความคงทนถาวร แต่ก็ระบายถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้เกิดความร้อน อบอ้าว ไม่เย็นสบายเหมือนกับมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝกหรือหญ้าคาแห้ง ที่ได้จากการถักทอตามภูมิปัญญาที่รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ สามารถป้องกันแดดป้องกันฝนสาดส่องได้เป็นอย่างดี
“เดิมสมัยก่อนชาวบ้านตามชนบท จะไปหาเก็บเกี่ยวเกี่ยวหญ้าแฝกและหญ้าคา ที่เกิดทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา มาผึ่งแดดให้แห้ง แล้วนำมาจับเรียงกันเป็นตับ ยึดด้วยหวายหรือเชือกฟางเพื่อประกบกันเป็นแผ่น เรียกว่า “ไพหญ้า” สำหรับมุงหลังคาหรือฝาบ้านดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาทำใช้ในครัวเรือน มุงที่พักอาศัย ที่พักผ่อน ต่อมาถึงแม้จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ส่วนใหญ่มุงหลังคาด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น สังกะสี กระเบื้อง แต่ไพหญ้าก็ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สามารถผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายได้หาได้ตลอดปี” นางสังวาลล่าว
นางสังวาลกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการทำไพหญ้าคาของชาวบ้านพุทธรักษานั้น เกิดจากผู้สูงอายุที่ว่างงาน และเห็นว่าในพื้นที่มีหญ้าคาเยอะ ประกอบกับเห็นว่าตลาดเปิดกว้าง มีความต้องการมาก เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว จึงได้มีการรวมกลุ่มทำไพหญ้า โดยลูกหลานวัยหนุ่มสาวไปหาเก็บเกี่ยวมาผึ่งแดด 3-4 แดดจนแห้งได้ที่ แล้วนำมาจัดทำเป็นไพหญ้า เริ่มลงมือทำจริงจังมาประมาณ 5 ปี แรกๆต่างคนต่างทำ ต่อมามีการรวมกลุ่มผู้ผลิตไพหญ้าบ้านพุทธรักษา โดยผลิตทุกวันแล้วนำมาเก็บรวบรวมไว้ในโกดัง รอลูกค้ามารับ
“ปัจจุบันกลุ่มผลิตไพหญ้าบ้านเรา มีสมาชิก 100 ครัวเรือน จำหน่ายไพละ 25 บาท เฉลี่ยวันหนึ่งหากตั้งใจทำจริงๆ คนหนึ่งจะทำไพหญ้าได้ 10 ไพ เพราะทำง่ายๆ ไม่ยุ่งยากเลย ทำให้มีรายได้เฉลี่ยเข้าครัวเรือนวันละ 200 บาท ซึ่งถือว่าเป็นกำไรล้วนๆ เพราะแทบจะไม่ได้ลงทุนอะไรเลย เพียงแต่ไปเก็บเกี่ยวหญ้าคาตามหัวไร่ปลายนาทั่วไป โดยไม่ได้ลงทุนซื้อ มาสร้างมูลค่าเพิ่มเท่านั้นเอง การทำไพหญ้าคาขาย จึงเป็นทั้งการใช้เวลาว่าง สร้างอาชีพ และรายได้ รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญา ให้ลูกหลานรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้อีกด้วย” นางสังวาลกล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากการการติดตามบรรยากาศการซื้อขายไพหญ้าของผู้สูงอายุบ้านพุทธรักษา ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ดังกล่าว พบว่าในช่วงนี้มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นฤดูแล้งลูกค้าจะมาซื้อไปมุงที่พัก สถานประกอบการ เพื่อลดความร้อนและความอบอ้าวจากสภาพดินฟ้าอากาศได้เป็นอย่างดี ดีกว่ามุงด้วยวัสดุอื่นๆที่มีราคาสูง และระบายอากาศไม่ดีเท่าไพหญ้า โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนเข้าสู่ปลายเดือนธันวาคมนี้ ขายดีเป็นพิเศษ มีลูกค้ามารับซื้อถึงที่รายละ 200-500 ไพ เนื่องจากผู้เจ้าของร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งเรือนเพาะชำกล้าไม้ และเพาะเลี้ยงเห็ด ขยายกิจการ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวในเทศกาลปีใหม่นี้ ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุฯผลิตไพหญ้าบ้านพุทธรักษา มีรายได้วันละ 3,000-7,000 บาททีเดียว