เกษตรกรชาวไร่อ้อย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ยังคงใช้วิธีการตัดอ้อยสดด้วยแรงงานคน แทนการใช้เครื่องจักรอย่างรถตัดอ้อย และรถสางใบอ้อย หลังค่าจ้างในการเก็บเกี่ยวสูง จะใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวแปลงปลูกจะต้องมีขนาดร่องตรงตามที่รถเกี่ยวและรถสางใบอ้อยกำหนด เกษตรกรฯ เผย แม้ใช้เวลานานแต่ได้กำไรมากกว่า และยังเกิดการจ้างงานในหมู่บ้าน
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศการเก็บเกี่ยวอ้อยของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ในพื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น หลังจากเข้าสู่ฤดูกาลเปิดหีบอ้อยในปี2567/2568 พบว่า เกษตรกรส่วนหนึ่งยังคงใช้วิธีการเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีดั้งเดิม คือการตัดอ้อยสดด้วยแรงงานคน โดยไม่ใช้เครื่องจักร เช่น รถตัดอ้อย
นายสุรศักดิ์ หาโคตร อายุ 51 ปี เกษตรกรไร่อ้อย กล่าวว่า ตนเองประกอบอาชีพเกษตรกรทำไร่ ซึ่งในปี 2567 ได้ปลูกอ้อย จำนวน 40 ไร่ อยู่ในพื้นที่บ้านหนองบัวบาน หมู่ที่ 5 ต. ทรายมูล อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น ในการปลูกอ้อยแต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 12-13 เดือน ถึงจะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งต้นทุนในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 10,000 บาทต่อไร่ ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 12-15 ตัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการเพราะปลูก ถ้าเป็นพื้นที่นาจะได้ผลผลิตถึง 15 ตันต่อไร่
นายสรุศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า การตัดอ้อยสดมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการตัดแบบเผา แต่ก็จะได้ราคาดีกว่า ซึ่งปัจจุบันราคารับซื้ออยู่ที่ 1,160 บาทต่อตัน หากเป็นอ้อยเผาจะโดนหักตันละ 60 บาท โรงงานจะรับซื้ออยู่ที่ 1,100 บาท การตัดอ้อยปัจจุบันเกษตรกรบางรายยังคงใช้แรงงานคน ซึ่งทำให้ยังมีการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน การตัดอ้อยสดก็จะมีค่าใช้จ่ายของรถสางอ้อย ซึ่งราคาตันละ 40 บาท ราคาจ้างแรงงานคนคิดเป็นตัน ตันละ 110 บาท แต่อาจทำให้ใช้เวลาในการตัดนาน เกษตรกรบางรายที่พอมีทุนทรัพย์ก็จะใช้รถตัดอ้อยแทน แต่ต้องมีการเตรียมแปลงอ้อยให้เหมาะสมที่จะสามารถให้รถเข้ามาตัดได้ โดยไม่ทับต้นอ้อยภายในไร่
นายสุรศักดิ์ ฝากถึงรัฐบาลอยากให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องราคาอ้อย ซึ่งปัจจุบันรับซื้ออ้อยสด ตันละ 1,160 บาท แต่เนื่องจากการตัดอ้อยสดมีต้นทุนในการเก็บเกี่ยวค่อนข้างสูง จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือด้านราคารับซื้อตันละ 1,200 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ
รายงานข่าวเพิ่มเติมแจ้งว่าในการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน ทางโรงงานจะทำการหีบอ้อยสดก่อน อ้อยไฟไหม ที่เผาก่อนตัดจะต้องรอคิวก่อน พร้อมกันนั้นผู้ที่ตัดอ้อยสดจะได้รับเงินพิเศษตันละ 60 บาท ส่วนชาวไร่อ้อยที่นำอ้อยไฟไหม้มาส่งโรงงาน จะถูกหักตันละ 60 บาท นำมาให้กับผู้ส่งอ้อยสดเข้าโรงงานน้ำตาลต่อไป