ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่บริเวณสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง ตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย นายพศิน นาชัยโชติ นายอำเภอท่าลี่ ตัวแทนจากประเทศไทยพร้อมด้วย นายคำปุ่น นวนสะบับ เจ้าเมืองแก่นท้าว ร่วมเป็นประธานเปิดกิจกรรมฉลองครบรอบ 20 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว (น้ำเหือง) โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเลย ผู้นำองค์กรปกครอง ส่วนท้อถิ่น พี่น้องประชาชนทั้งฝั่งเมืองแก่นท้าวและฝั่งอำเภอท่าลี่ และแขกผู้มีเกียรติร่วมงาน
นายพศิน นาชัยโชติ นายอำเภอท่าลี่กล่าวว่า อำเภอท่าลี่ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับท่านเจ้าเมือง และพี่น้องประชาชนเมืองแก่นท้าว ในโอกาสที่ได้มาร่วมกิจกรรม ฉลองครบรอบ 20 ปี สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ซึ่งถือได้ว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีในการต่อยอดกระชัความสัมพันธ์ของการระหว่างอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย กับเมืองแก่นท้าว แขวงไซยะบุรี ตลอดจนสร้างมิตรภาพ ความเข้าอกเข้าใจอันดีต่อกัน ระหว่างประชาชนกับประชาชนในพื้นที่ของทั้ง 2 ฝั่งริมน้ำเหือง นับตั้งแต่ปี 2536 ประชาชนในจังหวัดเลยและแขวงไชยะบุรีที่ต่างมุ่งหวัง ให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหือง เพื่อเชื่อมระหว่างอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย กับเมืองแก่นท้าว แขวงไชยะบุรี โดยต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 อนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหือง และมอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานแห่งนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2546 และมีพิธีเปิดการใช้สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2547 เพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนไทยและลาว นักธุรกิจ ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ได้เดินทางสัญจร ติดต่อดำเนินธุรกิจ ทำการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวกันได้โดยสะดวกอันจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดี ซึ่งนับตั้งแต่วันเปิดใช้
จนถึงปัจจุบัน ก็เป็นระยะเวลา 20 ปี พอดี
วันนี้นับเป็นวันอันเป็นมงคลยิ่ง และเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ไทย-ลาว อีกวันหนึ่ง ที่ประชาชนทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 20 ปี สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ผมเชื่อมั่นว่า สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ที่เปิดใช้งานมานานนับ 20 ปีนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับลาวเท่านั้น แต่จะเชื่อมโยงความร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาค เป็นสะพานเชื่อมโยงสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพ และเป็นสะพานแห่งโอกาสที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนไทยและประชาชนลาวอย่างยั่งยืนร่วมกัน
สำหรับประวัติสะพานแม่น้ำเหือง (ลาว: ຂົວມິດຕະພາບນ້ຳເຫືອງ) (อังกฤษ: Nam Hueang friendship bridge) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเหือง เชื่อมระหว่างตำบลท่าลี่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย กับแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว เป็นสะพานคอนกรีต 1 ช่องจราจร ยาว 110 เมตร กว้าง 9 เมตร นับตั้งแต่ปี 2536 ประชาชนในจังหวัดเลยและแขวงไชยะบุรีที่ต่างมุ่งหวังให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหือง เพื่อเชื่อมระหว่างอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย กับเมืองแก่นท้าว แขวงไชยะบุรี โดยต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ก่อสร้างเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 วงเงิน 20.75 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โครงการก่อสร้างสะพานแห่งนี้เริ่มดำเนินการ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2546ในช่วงดำเนินโครงการนี้ได้มีการขยายวงเงินก่อสร้าง เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและสามารถสนองประโยชน์พี่น้องประชาชนไทยและลาวได้อย่างสูงสุด โดยเฉพาะเมื่อ นายกรัฐมนตรีได้มาตรวจราชการที่จังหวัดเลยและได้รับรายงานเกี่ยวกับการดำเนินโครงการนี้ จึงได้มีบัญชาให้ลาดยางถนนฝั่งลาวจากเชิงสะพานต่อไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร รวมงบประมาณที่รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนโครงการ เป็นเงิน 43.07 ล้านบาท การก่อสร้างสะพานดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ประจำสะพานแห่งนี้ ก่อสร้างเสร็จและได้มีพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการ
ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2547 โดย ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และนายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกันเป็นประธาน ที่บริเวณสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย–ลาว ตั้งอยู่ที่บ้านนากระเซ็ง ตำบลท่าฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย โดยมีข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย กำหนดให้เป็นด่านถาวรและด่านสากล เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการค้าและท่องเที่ยวแก่กัน เนื่องจากจังหวัดเลย และแขวงไชยบุรี ต่างมีการค้าและท่องเที่ยวมานานมานับ 10 ปี สะพานแห่งนี้สามารถเดินทางผ่านจากแขวงไชยบุรี สู่เมืองหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก ที่ระยะทางประมาณ 360 กิโลเมตร ผ่านทางหลวงหมายเลข 4 Route 4 (Laos) และยังเป็นประตูไปสู่เมืองต่าง ๆ เพื่อการค้าและท่องเที่ยวทั้งเมืองอื่นๆ ในลาว ต่อไปยังเวียดนามและจีน
ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์ / จ.เลย