ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิชอบพร้อมด้วยคณะลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้องเทจจริงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำพร้อมรับฟังปัญหาความเดือดเร้อนของประชาชน เบื้องต้นก็ได้ประสานให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบและจังหวัด ไปสำรวจเพิ่มเติมว่าตกหล่นจำนวนเท่าใด ประสบภัยในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ แต่ถ้าเกิดว่าเป็นการประสบภัยหลังจากนั้นก็ให้พิจารณาเป็นเรื่องใหม่ และช่วยเหลือประชาชนต่อไป
วันที่ 7 ธันวาคม 67 เวลา 09.30 น ที่ห้องประชุมอำเภอบรบือ จ.มหาสารคาม นายฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรและคณะ ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการซ่อมแซมประตูระบายน้ำห้วยเชียงคำ ตำบลโนนราษี อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแตกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
โดยตัวแทนชาวบ้านได้พูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายจากน้ำที่หลากลงมา ทำให้มีดินทรายทับถม ผืนนากลายเป็นผืนทรายไม่สามารถทำนาปลูกข้าวได้ หลักกั้นแบ่งเขตนาข้าว ก็ถูกน้ำพัดเสียหาย เถียงนา สัตว์เลี้ยงลอยไปกับน้ำ แต่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย หรือทางภาครัฐชดเชยให้น้อยเกินไปไม่คุ้มค่ากับทรัพย์สินที่เสียไป รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ที่ชาวบ้านเชื่อว่าไม่ได้เป็นเพราะภัยพิบัติ แต่เป็นเพราะการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงอยากให้คณะกรรมาธิการได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
นางไกรษร บุรีมาศ ชาวบ้านบ้านเป้า ต.กำพี้ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแตก มีพื้นที่นาทั้งหมด 8 ไร่ ที่เสียหายโดยสิ้นเชิง 3 ไร่ ต้นพะยูง 200 กว่าต้น ที่นาที่เคยปลูกข้าวตอนนี้เป็นผืนทรายไปหมด หากจะทำนา ต้องขุดเปิดหน้าดินออก ถึงจะทำนาได้เหมือนเดิม ที่ผ่านมายังไม่ได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐ ตอนแรกทางเจ้าหน้าที่บอกว่าจะให้ค่าเสียหายไร่ละ 7,000 บาท แต่ตอนหลังมาบอกว่าให้ได้ไร่ละ 1,340 บาท มองว่ามันน้อยเกินไปไม่คุ้มค่ากับค่าเสียหายที่เกิดขึ้น อยากได้เงินชดเชยมากกว่านี้ หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงที่นาให้ใหม่ ให้สามารถปลูกข้าวได้เหมือนเดิม ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้เงินสักบาท
จากนั้นคณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่ที่อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ต.โนนราษี อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการซ่อมแซมประตูระบายน้ำห้วยเชียงคำ และพบปะผู้นำชุมชนในพื้นที่ ณ ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 2.373 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณเก็บกัก 5.066 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 46.85 % ของความจุอ่าง
นายฉลาด ขามช่วง ประธานกรรมคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ในวันนี้สืบเนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนว่าได้รับผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำที่แตก สร้างความเสียหายอย่างมาก ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด ทำไม อ่างเก็บน้ำถึงแตก เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ ความผิดพลาดอยู่ตรงไหน เกิดจากอะไร โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นและจะได้นำไปประมวลให้ผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และจะได้แจ้งกลับมาทางจังหวัดให้ผู้ร้องได้รับทราบข้อเท็จจริงต่อไป หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็มีกระบวนการในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้ทำหน้าที่ในการปราบปรามการทุจริต ซึ่งวันนี้ไม่ได้มาจับผิดใคร แต่มาแสวงหาข้อเท็จจริง
ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น ทราบว่า อำเภอวาปีปทุม จ.มหาสารคาม ได้จ่ายเงินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปแล้วจำนวน 19 ล้านบาท และทางหน่วยงานที่รับผิดชอบเตรียมจ่ายเงินช่วยเหลือให้ประชาชนในพื้นที่ อ.บรบือ อีกภายในวันจันทร์ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้กว่าจะมาถึงขั้นตอนการสรุปยอดการช่วยเหลือ ต้องมีสำรวจพื้นที่และรวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับความเสียหาย และการประชาคมในหมู่บ้าน หลังจากนั้นจังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งความเสียหายจะแยกเป็นด้านทรัพย์สิน บ้านเรือน ด้านพืชผลการเกษตร ด้านสัตว์เลี้ยง และด้านประมง เพราะอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือต่างกัน ซึ่งหลักเกณฑ์นี้เป็นหลักการเดียวกันทั่วประเทศ ตามประกาศของกระทรวงการคลัง หากได้น้อยประชาชนไม่พอใจ อาจจะมีการทบทวนและแก้ไขระเบียบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งสภาจะหารือเรื่องเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
แต่หากมีประชาชนมีรายชื่อตกหล่น เบื้องต้นก็ได้ประสานให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบและจังหวัด ไปสำรวจเพิ่มเติมว่าตกหล่นจำนวนเท่าใด ประสบภัยในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ แต่ถ้าเกิดว่าเป็นการประสบภัยหลังจากนั้นก็ให้พิจารณาเป็นเรื่องใหม่ และช่วยเหลือประชาชนต่อไป