อุดรธานี – รมว.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควง ร.อ.ธรรมนัส มอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่ตัวแทนเกษตรกร 30 ราย

รมว.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควง ร.อ.ธรรมนัส มอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่ตัวแทนเกษตรกร 30 ราย

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงแรมสยามแกรนด์ อ.เมือง จ.อุดรธานี ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานเปิด โครงการชะลอการขายยาง Kick Off โครงการชะลอการขายยาง ประจำปี 2568 มีนางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รอง ผวจ.รักษาราชการแทน ผวจ.อุดรธานี กล่าวต้อนรับ และนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวรายงาน พร้อมนำเกษตรกรเข้ารับมอบ เงินอุดหนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 5 กลุ่ม เกษตรกรชาวสวนยาง 3 ราย และการมอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่ตัวแทนเกษตรกร 30 ราย และมอบเครื่องเครปยาง 100 เครื่อง

นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รอง ผวจ. รักษาราชการแทน ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีเป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีประชากร 1,566,510 คน มีเนื้อที่ประมาณ 7,331,439 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 5,424,282 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 73.98 มีพื้นที่ชลประทาน 163,019 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.22 ส่วนใหญ่เป็นดินปนทรายและดินลูกรัง ไม่เก็บน้ำหรืออุ้มน้ำในฤดูแล้ง พื้นที่บางแห่งเป็นดินเค็ม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และยางพารา สัตว์เศรษฐกิจ ที่สำคัญ ได้แก่ ไก่เนื้อ โคเนื้อ และสุกร ประมงที่สำคัญ ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาดุก ตามลำดับ สินค้าเด่น คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

“ ผลิตภัณฑ์มวลรวมอุดรธานี (GPP) ปี 2564 มีมูลค่า 113,797 ล้านบาท ประกอบด้วย ภาคการเกษตร มูลค่า 20,118 ล้านบาท และนอกภาคการเกษตร มูลค่า 93,679 ล้านบาท โครงสร้างการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของอุดรธานี ปี 2564 ได้แก่ สาขาเกษตรกรรมและประมง ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 17.7 รองลงมา คือ สาขาการขายส่งขายปลีก สาขาอุตสาหกรรม สาขาการศึกษา และสาขาตัวกลางทางการเงินร้อยละ 14.5 13.8 และ 8.6 ตามลำดับ อุดรธานีมีวิสัยทัศน์ คือ เมืองอัจฉริยะ ศูนย์กลางการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และไมซ์ใน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในส่วนด้านการเกษตรมุ่งเน้นการส่งเสริม และยกระดับการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบัน มีความผันผวนต่อเนื่อง อีกทั้งปริมาณผลผลิตยางพาราที่เข้าสู่ตลาดมีมาก ทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ได้รับความเดือดร้อน จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากปริมาณล้นตลาดส่งผลต่อการดำรงชีพ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในหลายด้าน จากปัญหาดังกล่าวการยางแห่งประเทศไทย จึงมีความจำเป็นช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ของชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงบริหารจัดการยางพาราให้มีประสิทธิภาพ โดยชะลอปริมาณ ผลผลิตยางพาราที่ออกสู่ตลาด

“ โดยสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ที่เป็นสมาชิก สนง.ตลาดกลางยางพาราจังหวัด หรือสมาชิกตลาดเครือข่าย สนง.ตลาดกลางยางพาราจังหวัด สามารถเข้าร่วมโครงการชะลอการขายยางได้ ผู้ร่วมโครงการสามารถรวบรวมยางก้อนถ้วย ยางแผ่นรมควันชั้น 3 หรือน้ำยางสด ที่มีคุณภาพดีเก็บไว้ และนำออกขายเมื่อได้ราคาที่เหมาะสม โดยการยางแห่งประเทศไทย จะสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน ร้อยละ 80 ของมูลค่ายางที่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางรวบรวม และจัดเก็บหากมีการขายยางผ่านตลาดกลางยางพาราจังหวัดได้แล้ว การยางแห่งประเทศไทยจึงจะหักเงินสินเชื่อกลับเข้าโครงการฯ และจ่ายเงินส่วนต่างคืนให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ”

รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณยางเข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วยยางก้อนถ้วยและยางแผ่นรมควัน รวม 47,767 ตัน จำนวน 357 สัญญา มูลค่า 1,489 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการปล่อยสินเชื่อ เป็นเงิน 1,137 ล้านบาท มีมูลค่าจากการขาย เป็นเงิน 1,737 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นส่วนต่างกำไร 248 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้กำไรจากการชะลอยางเฉลี่ย กิโลกรัมละ 6.10 บาท สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มียางเข้าร่วมโครงการ 5,784 ตัน รวม 43 สัญญา คิดเป็นมูลค่าการปล่อยสินเชื่อ 60 ล้านบาท มีมูลค่าจากการขายรวม 90 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่างกำไร 13 ล้านบาท ที่ส่งคืนกลับให้แก่เกษตรกร ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้กำไรจากการชะลอยางเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.55 บาท

ผลการดำเนินการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าโครงการชะลอการขายยาง เป็นวิธีการหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพ การผลิตและควบคุมไม่ให้ปริมาณยางพาราล้นตลาด โดยการยางแห่งประเทศไทยสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบัน เกษตรกรชาวสวนยาง ในการเก็บรักษายางไว้เพื่อรอการขาย เมื่อได้ราคาสูงขึ้น รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพ เพื่อลดความผันผวนของ ราคายางพาราทำให้มีเสถียรภาพมากขึ้น วันนี้นอกจากเป็นการ Kick off โครงการชะลอการขายยาง ประจำปี 2568

ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดทำโครงการชะลอการขายยาง เป็นโครงการที่ช่วยเหลือ สนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ให้สามารถรักษาปริมาณผลผลิตยางพาราเข้าสู่ตลาดให้มีปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความผันผวนด้านราคาทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ ช่วยเหลือ และเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในระหว่างรอการขายผลผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสวนยาง

“ จากการรายงานทำให้ทราบว่า โครงการชะลอการขายยาง มีความสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถยกระดับศักยภาพของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้เข้มแข็ง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ดำเนินภารกิจที่เป็นประโยชน์ ต่อการสร้างเสถียรภาพด้านราคา เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดี ในการสนับสนุนด้านยางพารา ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งาน Kick Off โครงการชะลอการขายยาง ประจำปี 2568 ในวันนี้ จะสามารถสร้างการรับรู้และความเข้าใจ สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯมากขึ้น ….