ขอนแก่น (ชมคลิป) “รมว.ยุติธรรม” ติดตามการฟื้นฟูและให้กำลังผู้ป่วยยาเสพติด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ติดตามการบำบัดฟื้นฟูและให้กำลังใจผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวช ที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น พร้อมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์แจ้งความคืบหน้าในการรักษาชายชาว อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ติดยาเสพติดอย่างหนักจนผู้เป็นแม่ต้องสร้างกรงขังไว้ที่บ้านรอรับลูกชาย ให้ผู้เป็นแม่ทราบ พร้อมเดินหน้า “ธวัชบุรี โมเดล” แก้ปัญหายาเสพติด

         เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ติดตามการบำบัดฟื้นฟูและให้กำลังใจผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวช โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น พล.ต.ต.อนุวัตร สุวรรณภูมิ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น และ นพ.ชาญชัย ธงพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ โดย นพ.ชาญชัย ธงพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น ได้รายงานข้อมูล ขั้นตอนและแนวทางในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดที่ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โดยได้พาตรวจเยี่ยมผู้ป่วยฯ กลุ่มต่าง ๆ ที่อาการดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งในปี 2567 มีผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ดังนี้ ป่วยยาเสพติด (กลุ่มสาร Methamphetamine) แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก จำนวน 2,129 ราย ผู้ป่วยใน จำนวน 1,793 ราย ผู้ป่วยสารเสพติด (สุราและบุหรี่) จำนวน 191 ราย ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการบำบัดฟื้นฟูในโรงพยาบาลปัจจุบัน จำนวน  241 ราย

            โดยในระหว่างการตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ป่วย พ.ต.อ.ทวี ได้พบกับ ผู้ป่วยยาเสพติดรายหนึ่ง ซึ่งเป็นชายวัย 42 ปี ชาว อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่เคยปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา กรณีที่ผู้เป็นมารดา ได้สร้างห้องแบบมีลูกกรงคล้ายกับห้องควบคุมผู้ต้องหาขึ้นภายในบ้าน เพื่อเอาไว้ขังลูกชาย ซึ่งมีพฤติกรรมติดยาเสพติดมาตั้งแต่อายุ 16 ปี จนขณะนี้อายุ 42 ปี และ ติดพนันออนไลน์ โดยมักมีอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด เนื่องจากขอเงินแม่ไม่ได้ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่มานำตัวไปรักษา แต่ผู้เป็นมารดากลัวว่า หากออกมาก็จะกลับไปเสพยาบ้าอีก จึงทำห้องกรงขังขึ้นมา เพื่อหวังว่าหากลูกกลับมาจากการรักษาก็จะให้อยู่ในห้องนี้ ก่อนที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น จะได้รับผู้ป่วยรายนี้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู ตามมาตรฐานอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งการบำบัดรักษาภาวะแทรกซ้อนทางกายและจิต การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม แก้ไขและฟื้นฟูความบกพร่องทางสมอง ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมการเสพติดในระยะยาว โดยทีมแพทย์และสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งเสริมสร้างทักษะทางสังคม ส่งเสริมอาชีพ ป้องกันการกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ รวมถึงการดูแลให้คำปรึกษาครอบครัวของผู้ป่วย และแนะนำแนวทางการจัดการปัญหาในสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น  ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี ได้เข้าไปจับมือให้กำลังใจ พร้อมกับสอบถามความรู้สึก ก่อนจะให้ชายดังกล่าว แสดงความรู้สึกของตนเองให้กับเจ้าหน้าที่และเพื่อน ๆ ที่เข้ามาบำบัดรักษาได้รับฟัง ซึ่งชายวัย 42 ปี กล่าวว่า “การเสพยาเสพติดเป็นสิ่งไม่ดี อย่าไปยุ่งเกี่ยว อย่าไปรับกวนพ่อแม่ ขอเงินทองไปเล่นเกม เป็นสร้างความเดือดร้อนให้พ่อพ่อแม่”

         จากนั้น ได้เข้าให้กำลังใจและสอบถามผู้ป่วยยาเสพติด ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งพบว่า มีผู้ป่วยจากการใช้ยาเสพติด เป็นชายอายุเพียง 14 ปี ที่ต้องออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากติดยาเสพติด จนระบบประสาทสมองส่วนหน้าเสียหาย ทางโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น ต้องให้การรักษาและฟื้นฟูด้วยการฝึกทักษะการคิด การทำความเข้าใจ ผ่านการเล่นเกมที่จะต้องใช้การคิด เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  กล่าวว่า วันนี้นโยบายของรัฐบาล คือการแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้ครบวงจร โดยเป้าหมายสุดท้ายของการแก้ไขปัญหายาเสพติดก็คือ การทำผู้เสพที่เป็นคนไทย ให้กลับมาเป็นผู้ที่มีคุณภาพ มาช่วยกันพัฒนาประเทศ สร้างความเจริญให้กับประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ก้าวพลาดไปใช้ยาเสพติด ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติดมีทั้งมาตรการ ป้องกันปราบปราม รัฐบาลจึงเน้นการค้นหาผู้ที่ใช้ยาเสพติดตามหมู่บ้าน เพื่อนำมาบำบัดรักษา โดยการรักษาจะเป็นการรักษาทั้งในระบบของราชทัณฑ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 แสนคน ระบบคุมประพฤติ และระบบบำบัดด้วยการสมัครใจ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการบูรณะฟื้นฟูคนที่ก้าวพลาดไปใช้ยาเสพติด การมาในพื้นที่ขอนแก่นวันนี้ ก็เนื่องจากว่าจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีผลงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ครบวงจร รวมทั้งโรงพยาบาลธัญลักษณ์ขอนแก่น ที่เป็นโรงพยาบาลอันดับต้น ๆ ของประเทศในการในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด ซึ่งอยากสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนว่า การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งการติดตาม ไม่ให้ผู้ที่เคยใช้ยาเสพติดกลับไปสู่วังวนเดิม รัฐบาลไทยยังมีความเข้มแข็ง และทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

            “ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นอกจากการบำบัดรักษา การฟื้นฟูสภาพทางสังคม การให้การศึกษา การให้อาชีพ และอื่นๆ อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะความเชื่อมั่นของประชาชนระหว่างโรงพยาบาลและชุมชนยังมีช่องว่าง จึงจำเป็นต้องมีสถานที่ที่เป็นตัวเชื่อม อย่างที่ขอนแก่นมีการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้บำบัดยาเสพติด หรือศูนย์ CI เพื่อรองรับคนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีของผู้ป่วยยาเสพติดชาว อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์  ที่พอออกจากสถานที่ไป กลับเข้าไปสู่ชุมชนหมู่บ้าน ปรากฏว่าผู้เป็นมารดาที่เคยมีประสบการณ์ว่าลูกชายกลับไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด จนทำให้ต้องสร้างกรงขังไว้ที่บ้าน เนื่องจากเราไม่มีรูปแบบที่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีศูนย์พักคอย โดยให้นายอำเภอเข้ามาดูแล เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ว่าคนที่ผ่านการบำบัด รักษาเป็นอย่างดี”

           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  ยังตอบคำถามถึงความคืบหน้าในโครงการ “ธวัชบุรี โมเดล” ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมสั่งการให้ใช้เป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหายาเสพติด  กำหนดพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ว่า ขณะนี้ได้มีการกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลแล้ว ภาพรวมคือการดูแลแบบครบวงจร ที่สำคัญคือการกลับไปรีเอกซเรย์ ซึ่งบางทีเรามีข้อมูลของผู้เสพยาเสพติด หรือภาครัฐมีข้อมูลตัวชี้วัดที่ข้อมูลอาจไม่ตรงกับการรับรู้ของชาวบ้านในหมู่บ้าน ดังนั้น โครงการธวัชบุรีโมเดล จึงต้องการที่จะสื่อสารไปทุกหมู่บ้านว่า ให้มีการค้นหาผู้เสพผู้ใช้สารเสพติด เพื่อนำไปบำบัดรักษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อเป็นการสร้างคน ให้คนมีคุณภาพเพื่อไปสร้างสังคม ซึ่งหากมีการพบผู้เสพหรือผู้ใช้สารเสพติด หากมีความจำเป็นที่จะต้องไปบำบัดรักษากับหมอหรือโรงพยาบาล ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน แต่บางกรณีหากไม่ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ให้แพทย์เข้าไปดูอาการ ผ่านรูปแบบชุมชนเข้มแข็ง และจะมีการเพิ่มมาตรการในการเข้าไป ดูสภาพทางสังคม โดยการให้คำปรึกษา ให้อาชีพ ให้การศึกษา  เพื่อป้องกันการกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติด ซึ่งพบว่า ผู้ที่หันมาใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะตัวเลขจากกรมราชทัณฑ์ มีอยู่กว่า 200,000 คน มีการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังให้สัมภาษณ์ พ.ต.อ.ทวี ยังได้วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ พูดคุยกับมารดาของผู้ป่วยยาเสพติด วัย 42 ปี ชาว อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อแจ้งความคืบหน้าและอาการของลูกชายให้ผู้เป็นมารดาได้รับทราบ พร้อมทั้งให้ข้อมูลในด้านการรักษาของโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น รวมทั้งนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด การช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดของรัฐบาลให้ได้ทราบ เพื่อให้มารดาของผู้ป่วยเกิดความเชื่อมั่นในการทำงานแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยใช้เวลาในการพูดคุยประมาณ 10 นาที ก่อนที่ พ.ต.อ.ทวี พร้อมคณะจะร่วมกันเดินทางไปร่วมพิธีทอดกฐิน ที่สถานปฏิบัติธรรมป่าวิเวกสิกขาราม ต.เก่างิ้ว อ.พล จ.ขอนแก่น