อุดรธานีจัดประกวดควายไทยสวยงาม “อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก” ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ สวนสาธารณะโคกหนองโก ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี นายพิสิฐชัย อภัยปิยกุล รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานแถลงข่าวโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ ของพื้นถิ่นอีสาน ในการจัดงานประกวดควายสวยงาม ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กิจกรรม “อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก” ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 ขึ้นในระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2567 ณ พื้นที่โคกหนองโกสาธารณะ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้เข้าร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายประเทือง เพชรโรจน์ ปลัด อบจ.อุดรธานี ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.อุดรธานี, ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี, ผกก.สภ.ทุ่งฝน, ปชส.จังหวัดอุดรธานี, นายอำเภอทุ่งฝน และนายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดอุดรธานีในพระอุปถัมภ์ ฯ
วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในจังหวัดอุดรธานี กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทย การผลิตสินค้าโอทอปและผลิตภัณฑ์จากชุมชน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นอีสาน ผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย ให้เกษตรกรและผู้สนใจหันกลับมาเลี้ยงควายเพิ่มมากขึ้น และอนุรักษ์ควายไทยให้เป็นมรดกของคนไทย เป็นข้อมูลพื้นฐานความรู้ในการเลี้ยงควาย และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจเลี้ยงควายหรือการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับวิถีคน วิถีควาย เช่น อาชีพปลูกหญ้าอาหารสัตว์ เกษตรแปลงใหญ่จากการรวมตัวกันของเกษตรกรอำเภอกุดจับ ปุ๋ยเม็ดจากมูลควาย กระดิ่งควายงาม ผลิตภัณฑ์ผ้าขิดลายควาย ตุ๊กตาควาย ฯลฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
แก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่น ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนสืบไป
นายพิสิฐชัย กล่าวว่าด้วยอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมทั้งด้านกสิกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีชีวิตและอัตลักษณ์พื้นถิ่นอีสาน ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านกสิกรรม ที่อาศัยวิถีธรรมชาติมาอย่างยาวนาน เช่น การปลูกข้าว โดยใช้แรงงานจากควายไทย เป็นต้น และมีการส่งเสริมการเลี้ยงควาย ทั้งโครงการจากรัฐ รวมถึงท้องถิ่น จากข้อมูลปี 2567 มีผู้เลี้ยงควายทั้งจังหวัดรวม 13,253 ราย จำนวนควาย 69,340 ตัว
รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวต่อไปว่าในระหว่าง พ.ศ. 2546 – 2547 ได้มีการค้นพบที่หลุมขุดวัดโพธิ์ศรีใน แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงพบโครงกระดูกสัตว์แบบเต็มโครงสมบูรณ์ มี โครงกระดูกปลา โครงกระดูกสุนัขและ โครงกระดูกตระกูลวัวควายที่พบไม่มีศีรษะซึ่งไม่ชี้ชัดว่าเป็นโครงกระดูกวัวหรือควาย จนกระทั่ง ใน ปี 2566 ได้มีการนำชิ้นส่วนโครงกระดูกตระกูลวัวควายนี้ ไปตรวจ DNA เพื่อยืนยันว่าเป็นโครงกระดูกวัวหรือควาย โดยการประสานความร่วมมือของศูนย์ส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดอุดรธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และ ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และต่อมาในปี 2567 ก็ได้รับรายงานผลการตรวจ DNA บ่งชี้ว่าเป็น “โครงกระดูกควาย” อายุกว่า 3,000 ปี
นายพิสิฐชัย กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรและผู้สนใจหันกลับมาเลี้ยงควายเพิ่มมากขึ้น เป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอดตำนาน ควายโบราณบ้านเชียง สืบสานตำนานวิถีคนวิถีควาย ส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทย เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นอีสาน จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ อบจ.อุดรธานี สนง.ปศุสัตว์จังหวัดและ สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดอุดรธานีในพระอุปถัมภ์ฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ขึ้น ซึ่งก็มีเกษตรกรจากทั่วประเทศได้ส่งควายไทยเข้าประกวดในครั้งนี้ จำนวน 497 ตัว
สำหรับวันเวลาในการจัดงานในครั้งนี้แบ่งวันที่ 16 พ.ย.จะเป็นพิธีเปิดงานและพิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดย ประชาชน สนง.วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีร่วมกับอำเภอทุ่งฝนและอปท. กว่า 1,200 คน วันที่ 17 พ.ย.ประกวดควายสวยงามท้องถิ่น วันที่ 18 พ.ย.ประกวดควายสวยงามระดับประเทศ และโชว์พ่อพันธุ์ควายสวยงามควายแคระจากทั่วประเทศกว่า 50 ตัว มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ในงานยังมีนิทรรศการปัจจัยสี่ “วิถีคน วิถีความ” ” แบ่งเป็น โซนอาหาร โซนที่อยู่อาศัย โซนยารักษาโรค และโซนเครื่องนุ่งห่ม สินค้าโอท็อปและผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารและเครื่องดื่มในจังหวัดอุดรธานี กว่า 150 ร้านค้า และมีการจำหน่ายน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ควายงามในราคาพิเศษ
นายพิสิฐชัย อภัยปิยกุล รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวในตอนท้ายว่าในการจัดงานครั้งนี้ คณะจัดงานและชาวอุดรธานีได้รับพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการเสด็จเป็นองค์ประธานมอบถ้วยรางวัลพระราชทาน แก่เกษตรกรเจ้าของควายที่ชนะเลิศในรุ่นควายยอดเยี่ยม เพศผู้ เพศเมีย และรุ่นรองควายยอดเยี่ยม เพศผู้ เพศเมีย รวม 4 รางวัล สร้างความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงควายในจังหวัดอุดรธานี และที่มาจากทั่วประเทศ รวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเป็นอย่างสูง