จำนวนคนดู 12
ชาวอุบลรัตน์ ออกหา “ไข่ผำ” สาหร่ายสีเขียวที่เกิดขึ้นเองตามแหล่งน้ำธรรมชาติ มารังสรรค์เป็นเมนูอาหาร หากได้มากก็จะแบ่งขายสร้างรายได้วันละกว่า 1,000 บาท
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นายถาวร สันเสนาะ ชาวบ้านในอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พาทีมข่าวลุยลัดเลาะไปตามทุ่งนา เพื่อออกหาเก็บไข่ผำที่อยู่หนองน้ำกลางทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน พร้อมกับอุปกรณ์การตักไข่ผำที่ทำจากไม่ไผ่ด้ามยาว ปลายไม้ไผ่เป็นอุปกรณ์ตักไข่ผำทำจากผ้าตาข่ายสองชั้น และตะกร้าไม้ไผ่สองใบเอาไว้ใส่ไข่ผำ วิธีการเก็บนั้นก็ไม่ยุ่งยาก เพราะไข่ผำ จะกระจายและลอยอยู่ตามผิวน้ำ ใช้อุปกรณ์ตักแกว่งไปมา เมื่อได้ไข่ผำพอประมาณก็นำขึ้นมาคัดแยกกิ่งไม้ ใบไม้ออก เหลือไว้เฉพาะไข่ผำ เทลงใส่ตะกร้า ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็ได้ไข่ผำเต็ม 2 ตะกร้า น้ำหนักเกือบ 10 กิโลกรัม นำไปประกอบเป็นอาหาร และแบ่งขายสร้างรายได้วันละกว่า 1,000 บาท
นายถาวร สันเสนาะ ชาวบ้านอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงต้นฤดูหนาว ข้าวออกรวง ก็จะเป็นช่วงที่ไข่ผำ หรือ ไข่น้ำ พืชน้ำขนาดเล็ก มีลักษณะเม็ดกลมคล้าย ๆ ไข่ปลา เกิดและกระจายคลุมเหนือผิวน้ำเป็นแพ มักจะขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำสะอาดที่เป็นน้ำนิ่ง ชาวบ้านนิยมนำไข่ผำ ไปประกอบอาหารกันตั้งแต่สมัยโบราณ โดยก่อนรับประทาน จะต้องล้างไข่ผำให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาปรุงอาหาร เพื่อป้องกันสารพิษและการปนเปื้อน ไข่ผำที่ได้จึงถูกนำมาล้างในน้ำสะอาดและกรองด้วยผ้าขาวบางอยู่ประมาณ 3 รอบ เมื่อได้ไข่ผำที่สะอาดแล้ว จึงนำมาประกอบอาหารเมนูง่าย ๆ คือ แกงไข่ผำและไข่เจียวไข่ผำ ซึ่งต้องบอกว่า แซ่บอี่หลี
สำหรับไข่ผำ จะเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำสะอาดและมีต้นไม้ปกคลุมเพราะชอบอากาศเย็น อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 20-26 องศา ไข่ผำถือเป็นพืชที่เซนซิทีฟต่อสารเคมี หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไข่ผำ ถือเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่มีการใช้สารเคมี โดยผลการศึกษาวิจัย พบว่า ไข่ผำมีปริมาณโปรตีนสูง มีวิตามินหลายชนิด มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน และอุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นอีกมากมาย ทำให้ไข่ผำกลายเป็นสุดยอดซูเปอร์ฟู้ด เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ โปรตีน มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนสูงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก อีกทั้งยังเป็นอาหารแห่งอนาคต เพราะเจริญเติบโตได้ไว ใช้ทรัพยากรการผลิตต่ำคุณภาพทางโภชนาการสูง