ทม.หนองคาย เปิดแล้วเทศกาลออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก การแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม “ประทีปนาคา บูชาพระสัพพัญญู” เล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองหนองคาย ใช้นักแสดงกว่า 200 คน
เมื่อคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ณ ลานวัฒนธรรมริมแม่น้ำโขง บริเวณพญานาคคู่ หน้าวัดลำดวน นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดงานประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาค ประจำปี 2567 โดยการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม “ประทีปนาคา บูชาพระสัพพัญญู” โดยเทศบาลเมืองหนองคาย จัดให้มีขึ้น โดยมีนายอุรุยศ เอียสกุล นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย กล่าวรายงาน
เทศบาลเมืองหนองคาย ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย จัดงานประเพณีออกพรรษาและเทศกาลบั้งไฟพญานาค ประจำปี 2567 ขึ้นในระหว่างวันที่ 14 – 20 ตุลาคม 2567 ในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น พิธีบวงสรวงและรำบูชาพญานาค, การแสดง แสง สี เสียง, พิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง, พิธีบวงสรวงพระธาตุกลางน้ำ, กิจกรรมตักบาตรเทโวโรหนะ, กิจกรรมถนนอาหาร, กิจกรรมถนนคนเดิน, กิจกรรมแข่งขันเรือยาวประเพณี, และกิจกรรมอื่น ๆ ณ บริเวณวัดหายโศก, ลานวัฒนธรรมหน้าวัดลำดวนถึงพระธาตุหล้าหนอง และบริเวณในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่และถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง รักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล สร้างสังคมและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ส่งเสริมและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
การแสดง แสง สี เสียง“ประทีปนาคา บูชาพระสัพพัญญู” เป็นการเล่าถึงตำนานพญานาคโดยมีเรื่องราวจากดุษฏีนิพนธ์ งานวิจัยของพระเทพวชิรคุณ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย /เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง ที่นำมาถ่ายทอดมาเป็นการแสดง แสง สี เสียง เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสานร่วมกับเทคโนโลยีสื่อผสมสมัยใหม่ ซึ่งการแสดงได้ถ่ายทอดเรื่องราวตำนานพญานาค สู่ความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีต่อพญานาค ซึ่งประกอบไป การเล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดของหนองคาย ตั้งแต่ตำนาน ประเพณี มาจนถึงปัจจุบัน และว่าด้วยเรื่องการเกิดแม่น้ำโขง , วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง กับความเชื่อเรื่องพญานาค เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับพญานาคทั้ง 4 ตระกูล ผูกรวมไปกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวหนองคาย คือพระสุก พระเสริม พระใส และพระธาตุหล้าหนอง ที่มีองค์พญานาครักษา , ความเชื่อเรื่องของการเกิด “บั้งไฟพญานาค” และประเพณีออกพรรษาของจังหวัดหนองคาย ซึ่งการแสดงแสง สี เสียง ในครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
ฤาษีลภ-ปวีณา ผู้สื่อข่าว จว.หนองคาย