“เอกราช ช่างเหลา” ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย เปิดบ้านตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงผ่านสื่อมวลชน กรณีถูกฟ้องดำเนินคดีฐานยักยอกเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น กว่า 431 ล้านบาท เจ้าตัวร่ายยาวตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการนำเงินออกไปใช้ จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เผยอึดอัดใจมานาน ต้องกลายเป็นผู้ร้ายเพราะหวังดีกับสหกรณ์ฯ
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2567 นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต4 พรรคภูมิใจไทย ได้เปิดบ้านพักในพื้นที่ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงผ่านสื่อมวลชน กรณีที่ตกเป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ258/2564 ที่พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในฐานความผิดร่วมกันยักยอกทรัพย์ ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม กรณีทุจริตเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น กว่า 431 ล้านบาท ระหว่างปี 2554-2562 ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่น ได้กำหนดวันฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ธ.ค.67 นี้ หลังจากที่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย ไปที่ศาลฯ เพื่อนัดพร้อมและหรือนัดฟังคำพิพากษา ดังกล่าว ซึ่งในการแถลงข่าวชี้แจ้งวันนี้ นายเอกราชฯ ได้ชี้แจงถึงประเด็นสำคัญ ๆ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.กล่าวถึงที่มาที่ไปของการนำเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด เมื่อครั้งที่ตนเองเป็นประธานสหกรณ์ฯ ออกไปใช้ จนทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี 2.ประเด็นที่ตนเองรับสารภาพในคดีอาญา และ 3.แนวทางในการนำเงินมาชดใช้คืนให้กับสหกรณ์ฯ
นายเอกราช กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ตนเองรู้สึกอึดอัดใจเหลือเกินในการที่อยากจะพูดเกี่ยวกับเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ซึ่งก็คือเรื่องเงินที่เป็นคดีความอยู่ในเวลานี้ ซึ่งเรื่องนี้ มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ เมื่อปี 2552 จากการที่มีสมาชิกสหกรณ์น เรียกร้องให้คณะกรรมการฯ หาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่ายให้กับสมาชิก เพื่อเป็นสวัสดิการ คณะกรรมการจึงรับหลักการ และดำเนินการทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย กระทั่งปี 2553 จึงได้มีการแสวงหาสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามมติของคณะกรรมการทุกอย่าง ซึ่งทุกเรื่องมีมติของคณะกรรมการรองรับทั้งหมด ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จนในปี 2553 สหกรณ์ได้สลากกินแบ่งรัฐบาลมาทั้งหมด 30,000 เล่ม จากบริษัท ขวัญฤดี และ บริษัท หยาดน้ำเพชร ซึ่งสหกรณ์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากทั้ง 2 บริษัท จนได้มีการดำเนินการซื้อขายมาโดยตลอด มีการโอนเงินไปที่กองสลาก แต่อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้ง 30,000 เล่ม เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ขวัญฤดี และ บริษัท หยาดน้ำเพชร ซึ่งสหกรณ์เป็นผู้ไปซื้อต่อมาจาก 2 บริษัท เมื่อซื้อมาแล้วทั้ง 2 บริษัทก็โอนสิทธิ์มาให้กับสหกรณ์ โดยดีลตรงกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งถือว่าสหกรณ์มีสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย 100% เราจึงต้องเอาเงินค้ำประกันสัญญากัน หรือเรียกว่า LG ไปวางสัญญาค้ำประกันกับกองสลาก จำนวน 396 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินนี้เองที่เป็นประเด็นฟ้องร้องอยู่ในขณะนี้ และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องวางกับบริษัท เจ้าของสัญญา เพื่อวางค้ำประกัน สัญญาในการที่จะปฏิบัติตามกับบริษัท ขวัญฤดี และ บริษัท หยาดน้ำเพชร โดยทั้งสองบริษัทนี้สหกรณ์ฯ จะต้องวางเงินสดค้ำประกัน ในอัตราหมื่นละ 260 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 700 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นกติกาที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่าย เป็นการค้ำประกันว่าเราจะไม่ฉีกสัญญาระหว่างการปฏิบัติ และมีผลบังคับทางเงื่อนไข ทั้งหมดนี้คือที่มาที่ไปว่าทำไมเราจึงทำสลากกินแบ่งรัฐบาล ต่อมาขณะที่เรากำลังขายสลากกินแบ่งรัฐบาลครั้งละ 10,000 เล่ม ไม่ใช่การขายครั้งเดียว 30,000 เล่ม ก็มีสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ ในประเทศไทย อยากจะทำเหมือนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น บ้าง เพราะมีความง่ายซื้อมาขายไป มีคนรอซื้อจำนวนมาก ก็มีการเข้ามาดูงาน มาสอบถามว่าอยากจะทำ ตนเองก็ได้เตือนและแนะนำตลอดว่าอย่าไปทำ เพราะในเรื่องนี้มันไม่ง่าย ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะทำได้ จึงได้มีการเตือนเพื่อนพี่น้องในระบบสหกรณ์ด้วยกัน ซึ่งก็มีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อ
“มีที่ไปวิ่งหาสลากมาเพื่อจำหน่าย ปรากฏว่าในระหว่างนั้นมีอดีตสมาชิกวุฒิสภา อยู่ในพื้นที่แถวจังหวัดศรีสะเกษ รายหนึ่ง เห็นความต้องการของสหกรณ์ต่าง ๆ ที่อยากได้สลากกินแบ่งรัฐบาล จึงไปทำการรวบรวมสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยรวบรวมมาได้ 10,000 เล่ม ก็นำไปวิ่งตามสหกรณ์ต่างๆ โดยอ้างว่าตัวเองมีโควต้าอยู่ 10,000 เล่ม ต้องการหรือไม่ หากต้องการจะขายให้ ซึ่งมีการไปดำเนินการแบบนี้กับทั้งหมด 17 สหกรณ์ เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2554 กลายเป็นว่าสหกรณ์ต่าง ๆ ถูกหลอกโดยคนคนเดียว ก็คืออดีตสมาชิกวุฒิสภารายนี้ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไปไม่รอด กลายเป็นเหตุการณ์แชร์ล็อตเตอรี่ล้มในระบบสหกรณ์ เกิดเป็นความวุ่นวายอย่างมากในขณะนั้น”
นายเอกราช กว่าวต่อว่า ต่อมาอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในขณะนั้น จึงมีคำสั่งให้ทุกสหกรณ์ วิธีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในปี 2554 เมื่อเป็นเช่นนั้นตนเองจึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยแจ้งว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นยุติการจำหน่ายสลากไม่ได้ เพราะเราดีลตรงกับกองสลาก มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตนเองชี้แจงกับทางอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่า หากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นยุติการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลจะทำให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากมีการทำสัญญาค้ำประกันกับบริษัทเจ้าของสลากเอาไว้ ซึ่งตนเองก็พยายามทุกวิถีทางแต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยืนยันคำสั่งให้ยุติการจำหน่ายสลากของทุกสหกรณ์ แต่ตนเองก็ยังคงจำหน่ายต่อ เพราะหากยุติเมื่อไหร่ก็จะเกิดความเสียหายกับสหกรณ์ และในช่วงปีที่สหกรณ์ ต่างๆจำนวน 17 สหกรณ์ ที่รับสลากกินแบ่งรัฐบาลจากอดีตสมาชิกวุฒิสภารายดังกล่าว ยุติการจำหน่ายสลาก ต่างก็พากันล้มระเนระนาด เหลือเพียงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นแห่งเดียว ที่ไม่ล้ม เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นมีสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินการตรวจสอบได้ การโอนเงินซื้อขายมีความชัดเจนถูกต้อง เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ตนเองอยากจะชี้แจงมานาน ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ คณะที่ร่วมกันจัดทำในช่วงนั้น ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ต่อมาอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้บอกกับตนเองว่า ถ้าตนเองไม่หยุดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล จะดำเนินการยกเลิกข้อบังคับที่ให้อำนาจตนเองจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล และอธิบดีก็มีคำสั่งยกเลิกจริงในเวลาต่อมา
“จากสถานการณ์ที่เราไม่มีข้อบังคับไม่มี กฎหมายรองรับ ทำให้เราไม่สามารถขายต่อได้ ทำให้สลากเหลืออยู่จำนวน 20,000 เล่ม และที่สำคัญไปกว่านั้นอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้บอกกับผมว่า คุณเอกราช พร้อมคณะ ต้องไปเอาเงินค้ำประกันสัญญา หมื่นละ 260 ล้านบาท กลับคืนมา ทั้งหมด ผมจึงนำเรียนอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปว่า เราเป็นคู่สัญญากับบริษัท ซึ่งบริษัทไม่ได้ทำผิดสัญญา แต่ผมในฐานะประธานสหกรณ์เป็นผู้ทำผิดสัญญา เราก็ต้องถูกริบเงิน ไม่เช่นนั้นสหกรณ์จะเกิดความเสียหาย จนสุดท้ายอธิบดีฯ ได้แจ้งกับผมว่า มี 2 ทางให้เลือก1.ถอนเงินสดที่ยังไม่ได้คืนจาก สลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 20,000 เล่ม รวมเป็นเงิน 400 กว่าล้านบาท คืนมาให้หมด โดยไม่มีเงื่อนไข 2.ต้องหาหลักทรัพย์มาวางค้ำประกันเงื่อนไขส่วนนี้ ไม่เช่นนั้นจะมีการดำเนินการยุบสหกรณ์ เหมือนกับสหกรณ์อื่นๆ”
นายเอกราช กล่าวว่า จากนั้นคณะกรรมการสหกรณ์ฯ จึงได้มีการประชุมหารือกันว่าจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร เพราะถูกบีบมาแบบนี้ และขณะนั้นสหกรณ์ก็มีหลักทรัพย์ไม่ถึงร้อยล้านบาท ซึ่งหลักทรัพย์ที่ต้องใช้จริงต้องมีมูลค่า 400 กว่าล้านบาท กระทั่งพบว่ามีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง ที่เรายกเลิกการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล นั่นคือเงินจำนวน 396 ล้านบาท ที่เกิดกรณีฟ้องร้องตนเองในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่จำนวน 431 ล้านบาทตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ยอดที่เกินมาคืออัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกำหนดเท่านั้น อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการขณะนั้นที่ร่วมกันหาทางออกให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จึงเห็นว่าจะต้องหาหลักทรัพย์มาวางค้ำประกัน จึงตัดสินใจว่านำเงินจำนวน 396 ล้านไปซื้อที่ดิน แล้วนำเป็นหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกัน สหกรณ์ตามเงื่อนไข ที่อธิบดีกำหนด ซึ่งตอนนั้นทีมงานทุกคนก็เห็นชอบร่วมกัน จึงได้นำเงินส่วนนั้นออกมาแล้วนำไปซื้อที่ดิน บริเวณใกล้กับศาลหลักเมืองขอนแก่น ประมาณ 6 ไร่ 3 งาน มูลค่าประเมิน 500 กว่าล้านบาท จึงซื้อที่ตรงนั้นแล้วนำมาวางค้ำประกันให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น การดำเนินการในครั้งนั้นจึงทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นอยู่ได้ เพราะเราคำนึงถึงสหกรณ์เป็นสำคัญ เพราะการดำเนินการเช่นนี้ทำให้สหกรณ์ไม่ล้มและสหกรณ์ ก็ได้เงินคืนจากการไปค้ำประกันกับทั้ง 2 บริษัท ซึ่งตนเองได้ทำการเจรจากับทั้ง 2 บริษัทแล้ว โดยผ่อนคืนมาให้กับสหกรณ์ เดือนละ 17,200,000 บาท ทำให้สหกรณ์ได้เงินคืนกลับมาทั้งหมด ในจำนวนที่นำไปวางค้ำประกันเอาไว้ โดยได้เงินกลับคืนมาทั้งหมดในระยะเวลา 2-3 ปี เมื่อได้เงินค้ำประกันกลับคืนมาทั้งหมดตนเองจึงนำเอาเงินไปไถ่ถอนที่ดินกลับคืนมา เพื่อที่จะนำไปขาย แล้วนำเงินมาชำระคืนให้กับสหกรณ์ 396 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้คือที่มาที่ไปว่าทำไมจึงได้นำเงินของสหกรณ์ออกมา และปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ ยังเป็นชื่อของตนเองเช่นเดิม ไม่ได้มีการไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือทำธุรกรรมที่ไหนเลย ทั้งนี้ ยอมรับว่าการนำเงินจำนวน 396 ล้านบาทออกไปซื้อที่ดินเพื่อนำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับสหกรณ์ นั้น ฝ่ายบริหารสหกรณ์รับทราบ แต่ทำเป็นมติไม่ได้ เพราะเราเอาเงินออกมาซื้อ แล้วเอาไปค้ำประกันสหกรณ์ ซึ่งเป็นลักษณะอัดยายซื้อขนมยายไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เมื่อทำแบบนั้นไม่ได้จึงไม่ได้มีมติในส่วนนี้ แต่เป็นที่รับทราบและเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เป็นการที่เสียสละตัวเอง เพื่อองค์กรนั่นก็คือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น โดยไม่ห่วงตัวเอง จนทำให้ตนเองต้องมารับสภาพอยู่แบบนี้ ยืนยันว่า ผมเป็นลูกผู้ชายและสุภาพบุรุษพอ ผมแอ่นอกรับได้ ในฐานะผมเป็นหัวหน้าคณะ และเงินสหกรณ์ที่เป็นตัวเลขที่โชว์อยู่ ได้คืนหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ต้องรอให้ทางปปง. ดำเนินการขายให้เรียบร้อย หากไม่พอตนเองก็มีหลักทรัพย์วางค้ำประกัน 400 กว่าล้านบาทซึ่งสามารถบังคับคดีได้ อยู่แล้ว
นายเอกราช ยังกล่าวถึงที่มาที่ไปของการรับสารภาพในช่วงเริ่มต้นของการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ด้วยว่า เมื่อเกิดประเด็นฟ้องร้องดำเนินคดีขึ้นมา คณะทีมงานกฎหมายของตนเอง ก็มีการปรึกษาหารือกัน ว่าเรื่องนี้เป็นการยักยอกทรัพย์ และข้อหาปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งตนเองได้ชี้แจงตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การยักยอก รวมทั้งเอกสารต่างๆก็ไม่ได้มีการปลอมแปลง ซึ่งทีมทนายความและฝ่ายกฎหมายของตนเองในขณะนั้น ก็บอกว่าให้ตนเองรับสารภาพ เพราะไม่ได้มีปัญหาอะไร ชำระเงินคืนให้กับสหกรณ์หมดคดีก็จบ ซึ่งตนเองก็เชื่อทีมทนายความของตนเองในชุดแรก ตนเองจึงรับสารภาพตามที่ทนายความแนะนำด้วยความไว้ใจทีมทนายความ วันที่รับสารภาพตนเองกำลังประชุมอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรด้วยซ้ำ และหลังจากที่ตนรับสารภาพก็มีผลทำให้ไปกระทบกับสถานะของคำว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นต่างๆตามที่ปรากฏออกมาทางสื่อมวลชน ซึ่งมีคดีต่างๆเกิดขึ้นตามมา ซึ่งในช่วงหลังตนเองก็เริ่มเอะใจแล้ว ว่าทีมกฎหมายของตนเองไม่มีความรอบคอบ เพราะในเรื่องนี้ตนเองไม่ได้ผิดมาตั้งแต่ต้น แต่ทีมทนายความให้รับสารภาพ จนเกิดประเด็นต่างๆถาโถมเข้ามาหาตนเอง จนสุดท้ายตนเองต้องปลดทีมทนายชุดเดิม แล้วตั้งทีมทนายชุดใหม่ขึ้นมา เพื่อต่อสู้คดีซึ่งตนมีความมั่นใจในทีมทนายชุดใหม่ ซึ่งแนะนำให้ยื่นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เพราะหากย้อนกลับไปถ้าตนเองไม่ทำเช่นนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นก็คงล้มไปตั้งแต่ปี 2554 แล้ว
นายเอกราช กล่าวต่อว่า เดิมทีตนเองตั้งใจว่าหลังจากที่คดีความทั้งหมดจบลง จึงจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น ซึ่งมีการเล่นคดีนี้กันอย่างหนักเหลือเกิน ทำให้ตนเองมองว่าคดีนี้กลายเป็นคดีการเมือง จึงจำเป็นต้องออกมาชี้แจงผ่านสื่อมวลชนในวันนี้ เพื่อให้ประชาชนผู้มีใจเป็นกลางได้รับทราบ วัดสถานการณ์ ณ วันนี้ หากตนต่อสู้คดีและปฏิเสธข้อกล่าวหามาตั้งแต่ต้นคดีความที่เกิดขึ้นก็คงจบลงแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของเงินที่เอาออกมาจากสหกรณ์ ตนเองก็ต้องชำระคืนให้กับสหกรณ์ อยู่แล้ว และในปัจจุบันนี้ ที่ดินส่วนตัวของตนเอง ซึ่งตนเองนำไปวางค้ำประกัน กับสหกรณ์ มูลค่า 439 ล้านบาท ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ดินที่นำเงินของสหกรณ์ออกมาซื้อ โดยที่ดินส่วนนี้นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ตนเองยินยอมให้ปปง. ยึด เพราะตนเองได้ดำเนินการประกาศขายที่ดินแปลงนี้แต่ไม่มีคนซื้อ จึงปล่อยให้ปปง.ยึดเพื่อขายทอดตลาด เพื่อที่จะได้เงินคืนให้กับสหกรณ์ได้เร็วขึ้น จะทำให้สหกรณ์มีสภาพคล่องและไม่เดือดร้อนในเรื่องการเงิน โดยเราคาดว่าการซื้อขายไม่น่าจะใช้เวลานานหลายปี แต่ณปัจจุบันกินเวลามาจะเป็นปีแล้ว ก็ยังขายไม่ได้ เหตุผลเพราะที่แปลงนี้ราคาแพง ราคาประเมินเกือบ 600 ล้านบาท ซึ่งปปง.เปิดขายรอบแรกประมาณ 560 ล้านบาท ก็ไม่มีคนเข้าสู้ราคา ตนเองจึงเสนอว่าลดราคาลงอีกได้หรือไม่ เพื่อให้คนเข้ามาสู้ราคา ซึ่งหนี้ของตนเองที่ต้องชดใช้ก็จ่ายไป 100 กว่าล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ มองว่าการเร่งคดีในครั้งนี้เป็นเรื่องของการเมือง อย่างที่สื่อมวลชนก็รับทราบกันอยู่แล้วว่า เพราะตั้งแต่มีการเปิดรับสมัครนายกอบจขอนแก่น วันแรก ก็มีหนังสือฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาคดีความของตนเอง ถูกส่งไปทั่ว หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้านได้รับหนังสือฉบับนี้ทั้งหมด ถามว่าลักษณะนี้เป็นการเมืองหรือไม่ ซึ่งหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็โทรกลับมาหาสหกรณ์ ว่า คดีนี้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเขา มองว่าขนาดนี้มีกลุ่มคนที่จ้องทำลายกันทางการเมือง ซึ่งพรรคพวกของตนเองที่ให้ข้อมูลเข้ามาก็เยอะ เมื่อถามว่าคดีนี้จะกระทบกับการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ. ของนายวัฒนา ช่างเหลา บุตรชายของตนเองหรือไม่ นายเอกราชตอบว่า เรื่องนี้แล้วแต่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะนาทีนี้ถ้าพี่น้องชาวขอนแก่น จะเลือกข้างหรือไม่เลือกข้าง ตนเองไม่สามารถรับรู้ได้ แต่รู้อย่างเดียวว่าวันนี้ ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน
ส่วนการยื่นคำร้องกลับคำให้การต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ศาลไม่รับคำร้องนั้น คณะทีมกฎหมายชุดใหม่ของตนเอง จะเป็นฝ่ายที่ดำเนินการ ซึ่งในส่วนนี้ตนเองขอไม่ก้าวล่วง แต่ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกอย่าง