หนุ่มใหญ่วัย 44 ปี กลับมาบ้านเกิดก่อนจะออกรับจ้าง ซ่อมคันนาให้กับชาวนา หลังเกิดฝนตกหนักทำให้น้ำกัดเซาะคันนาขาด สร้างรายได้วันละเกือบ 1,000 บาท พร้อมการันตี “ใครเอาไม่อยู่ เบสเอาอยู่ทุกรูรั่ว”
26 ก.ย. 67 นายวิวัฒน์ นารี หรือ เบส อายุ 44 ปี ชาวบ้านสระกุด หมู่ 14 ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้รับการว่าจ้างจากชาวบ้านที่ปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ อ.น้ำพอง ให้ไปซ่อมแซมคันนาแทบทุกวัน จนต้องมีการจองคิวกันแบบรายสัปดาห์ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำขังในทุ่งนาจำนวนมาก จนเกิดการณ์กัดเซาะคันนาขาด ชาวบ้านที่ไม่มีแรงก็ต้องมาว่าจ้างให้ไปช่วยอุดและซ่อมแซมคันนาที่ขาดให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้ ทำให้ในช่วงนี้ จอบ มีด เลื่อย ค้อนปอน และกระสอบปุ๋ย กลายเป็นอุปกรณ์ประจำกายของนายวิวัฒน์ ที่ต้องพกติดตัวไปด้วยในแต่ละวัน จนได้รับฉายาจากผู้ว่าจ้างว่า “นักซ่อมคันนา” ที่สร้างรายได้ให้วันละ 500 – 1,000 บาท
นายวิวัฒน์ บอกว่า ก่อนหน้านี้ตนเองประกอบอาชีพรับจ้างขับรถพ่วงในพื้นที่ภาคกลาง ทำมากว่า 20 ปี จนกระทั้งผู้เป็นพ่อล้มป่วยและเสียชีวิต ตนเองจึงกลับมาอยู่ที่บ้านที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อดูแลแม่ ทำให้ได้มาสานต่อการทำนาจากพ่อ ปีแรก ๆ ที่มาอยู่ที่บ้าน ยอมรับว่า ตนเองก็ทำนาไม่เป็น จึงเริ่มต้นจากการรับจ้างตัดหญ้าให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มหารายได้จากอะไร เมื่อตัดหญ้าไปได้สักระยะก็มีชาวบ้านจ้างวานให้ไปช่วยซ่อมคันนา ตอนนั้นตนเองก็ทำไปโดยไม่มีความรู้ ก็เริ่มจากเอากระสอบปุ๋ยใส่ดินไปวางขวางทางน้ำไหลแต่ก็ไม่ได้ผล จนกระทั้งลองผิดลองถูก จนเกิดไอเดียจากการสร้างบ้านว่า ถ้าหากมีอะไรที่เป็นเส้นใยมาเสริม อย่างเช่น การเทพื้นปูนที่มีเหล็กไวร์เมชมาเสริมความแข็งแรง ก็จะช่วยให้การซ่อมคันนามีความแข็งแรงมากขึ้น ตนเองจึงนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ โดยนำเอาหญ้าแห้งมาขย้ำคลุกเคล้าเข้ากับดินโคลน เพื่อใช้เป็นวัสดุที่เรียกว่า “ยาแนว” ซึ่งทำให้สามารถปิดรอยรั่วเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
โดยขั้นตอนการซ่อมแซมคันนา หรือ คันแถนา เริ่มจากการตรวจสอบความเสียหายของคันนา ว่ามีรูรั่วกว้าง ยาว และลึกขนาดไหน เมื่อทราบขนาดความเสียหายแล้ว ก็จะทำการตัดกิ่งไม้มาใช้เป็นหลัก เพื่อตอกเป็นเสาค้ำยัน จากนั้นจะทำการขุดเอาดินใส่ในกระสอบปุ๋ยนำไปวางลงในจุดที่คันนาขาดจนน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ หรือไหลผ่านได้น้อยที่สุด นำเอาเศษหญ้ามาขย้ำคลุกเคล้าเข้ากับดินโคลน เพื่อใช้เป็นวัสดุที่เรียกว่า “ยาแนว” จากนั้นนำเอาท่อนไม้ขนาดกลางมาวางในแนวขวาง แล้วนำเอาไม้ที่ตัดเป็นท่อนมาตอกเป็นหลักค้ำยัน ทั้ง 2 ด้าน แล้วยาแนวด้วยหญ้าที่ผสมกับโคลนตมอีกครั้ง ก่อนจะขุดเอาดินทับถมลมที่กระสอบปุ๋ยอีกครั้ง ก็จะทำให้ช่องคันนาที่ขาดชำรุด สามารถกั้นน้ำเอาไว้ได้นานและทนทาน
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า การซ่อมคันนาไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ความอดทน และความใจเย็น เนื่องจากบางจุดที่ขาดมีความลึก ที่นอกจากจะต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมมากถึงครึ่งวันแล้ว ยังต้องใช้พละกำลังในการขุดดินด้วย และด้วยความยากนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คนที่ทำนา โดยเฉพาะผู้สูงวัย ทำเองไม่ไหว จึงต้องมีการว่าจ้างหาคนไปช่วยซ่อมแซมคันนา จนเกิดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับตนเองในช่วงนี้ด้วย สำหรับชาวจังหวัดขอนแก่น ที่คันนาขาดชำรุดหากต้องการซ่อมแซมคันนา สามารถติดต่อว่าจ้างได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081 – 6109400