กาฬสินธุ์-สภาพัฒนาเมืองน้ำดำ ชง กมธ.สภาผู้แทนกดปุ่มปลดล็อคแก้ไขผังเมือง

ที่ปรึกษาพิเศษ สภาพัฒนาเมืองน้ำดำ พร้อมเครือข่าย 10 องค์กรเอกชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ เตรียมยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.) แก้ไขผังเมืองรวมเมืองและผังเมืองรวมจังหวัด หลังตรวจสอบพบว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและทันต่อนโยบายของรัฐที่สำคัญคือการปิดกั้นความเจริญ มีผู้ประกอบการบางรายปลูกสร้างอาคารผิดระเบียบ ส่อเอื้อนายทุนข้ามชาติ ในขณะที่ชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

วันที่ 18 กันยายน 2567 นายสุริยัน เหล่าสุอาภา รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านผังเมืองและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการผังเมืองเพื่ออุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับผังเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะปรึกษาคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาพิเศษ สภาพัฒนาเมืองน้ำดำ กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ และเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้จัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเมินการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ของการบังคับใช้ผังเมือง ที่ห้องประชุมธรรมาภิบาล เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา โดยมีส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ประชาชน ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งการประชุมวันนั้น ยังไม่มีข้อยุติ หรือยังไม่มีมติอะไรออกมา

นายสุริยันกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ยังไม่มีข้อยุติหรือยังไม่มีมตินั้น เนื่องจากในที่ประชุมเห็นว่า มีบางประเด็นที่ต้องการแก้ไขปรับปรุง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ บางประเด็นยังขัดกับระเบียบของผังเมืองที่มีอยู่เดิม เช่น พบว่ามีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ หรือการก่อสร้างสถานประกอบการโดยใช้พื้นที่ เกินขนาดที่ระเบียบผังเมืองกำหนด รวมทั้งในส่วนที่จะขอมติจัดโซนนิ่งเปลี่ยนสีผังเมืองเอง โดย อปท. ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วไม่เป็นไปตามระเบียบ ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนผังเมืองใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และเพื่อรองรับการขยายตัวเมือง และการเกิดเมืองใหม่ ภายหลังมีการเปิดใช้สนามบินสารสินธุ์ ที่จะเป็นการปลดล็อคจากเมืองที่กำลังพัฒนา เป็นเมืองที่พัฒนาแล้วทุกมิติ เพื่อคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

นายสุริยันกล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตนคร่ำหวอดในแวดวงการทำผังเมือง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มีทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและคณะทำงานให้กับการจัดรูปที่ดิน และแก้ไขผังเมืองให้กับหลายจังหวัดใหญ่ๆ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี และสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ในส่วนของ จ.กาฬสินธุ์นั้น ตนมองเห็นศักยภาพในทุกๆด้าน และมองเห็นปัญหาว่าทำไม เมืองที่มีสิ่งดีๆเต็มพร้อมทุกด้านจึงชะลอตัวแค่นี้ ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวมองว่ายังขาดผู้นำที่เข้มแข็ง ในการที่จะนำพากาฬสินธุ์เจริญก้าวหน้า กว่าที่เห็น เป็น อยู่

“อย่างที่ทราบกันดี พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีของดีหลายอย่าง มีแหล่งท่องเที่ยว มีศิลปะวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญๆ อย่าง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา มีสัตว์เศรษฐกิจ อย่างปลากระชัง แหล่งผลิตกุ้งก้ามกรามใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน แต่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และรายได้ของพี่น้องประชาชน รวมถึงค่าจีดีพีในภาพรวมของจังหวัด ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่โครงสร้างของตัวเมืองก็ยังอยู่วังวนเดิมๆ ซ่อมสร้างๆ อยู่อย่างนี้มาหลายปี ตึกสูง อาคารพาณิชย์ ที่พัก โรงแรม ทันสมัยใหม่ๆ ยังไม่มีโอกาสได้เกิด เพราะยังติดกับดักผังเมืองเดิมที่ครอบไว้อยู่ ในขณะเดียวกันกับที่พบว่า มีความพยายามของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะเปลี่ยนสีเปลี่ยนโซนผังเมือง และผู้ประกอบการเอกชนบางราย นายทุนข้ามชาติ กำลังปลูกสร้างอาคาร สถานประกอบการ เกินขนาดอาคารในผังเมืองที่กำหนดไว้ โดยมีหลักฐานยืนยันจากภาพจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเอกสารชี้แจงในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.ย.67 ที่ผ่านมา” นายสุริยันกล่าว

 

นายสุริยันกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพที่เกิดขึ้น ส่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขผังเมืองรวมเมืองเดิมที่เกิดขึ้นในปี 2562 ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ทั้งนี้ รวมไปถึงการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดเดิมเมื่อปี 2560 หรือถนนสาย MR3 ซึ่งตัดผ่านเป็นเส้นตรงจาก จ.บึงกาฬ-สกลนคร-กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด-สุรินทร์-ช่องจอม ซึ่งตัดผ่านพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ประมาณ 130 กม. โดยจากการศึกษารูปแบบโครงการ จะเห็นว่า จ.กาฬสินธุ์แค่เมืองทางผ่าน ไม่มีสถานีรถไฟ ไม่มีจุดกำหนดคลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้า ที่จะทำให้ชาว จ.กาฬสินธุ์เสียโอกาส โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ ทั้งๆที่มีของดี มีสินค้ามากมาย และยังจะต้องแบกรับค่าขนส่งที่มีต้นทุนกว่าจังหวัดอื่นๆถึง 13.5-13.7% ต่อไป เพราะไม่มีระบบขนส่งทางรถไฟ

 

นายสุริยันกล่าวในตอนท้ายว่า ตามที่การประชุมประเมินการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ของการบังคับใช้ผังเมืองรวมเมือง ที่หอประชุมธรรมาภิบาลฯ ยังไม่มีข้อยุติ รวมถึงการทำผังเมืองรวมทั้ง 2 ผังที่ จ.กาฬสินธุ์แทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ดังกล่าว ในนามที่ปรึกษาสภาพัฒนาเมืองน้ำดำ และ 10 องค์กรในนามสภาพัฒนาเมืองน้ำดำ ที่กำลังร่วมกับส่วนราชการขับเคลื่อนหลายมิติ ทั้งการจัดร่างธรรมนูญลำปาว การแก้ไขผังเมือง เพื่อรองรับสนามบินสารสินธุ์ รวมถึงการสร้างเมืองใหม่จากวงแหวนทางเลี่ยงเมืองทางทิศเหนือของเมือง และทางเลี่ยงเมือง-อ.สมเด็จที่กำลังก่อสร้างด้วย

 

“จึงมีแนวคิดเห็นร่วมกันในการที่จะทำหนังสือยื่นต่อกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.) ในเร็วๆนี้ เพื่อขอให้มีการแก้ไขผังเมืองจังหวัดและผังเมืองรวมใหม่ ก่อนที่จะนำมาใช้ในปีงบประมาณต่อไป เพราะเล็งเห็นแล้วว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองเก่า ทั้งผังเมืองรวมจังหวัดและผังเมืองรวมเมือง ของจ.กาฬสินธุ์คงจะไม่เจริญเดินหน้าถึงไหน คงจะอยู่ในสภาพเดินย่ำอยู่อย่างนี้ตลอดไป การแก้ไขผังเมือง โดยฝากความหวังไว้กับ กมธ.สภาผู้แทนฯ จึงจะเป็นการปลดล็อคให้ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการพัฒนาทุกมิติ และเจริญก้าวหน้าตามศักยภาพทัดเทียมจังหวัดอื่น” นายสุริยันกล่าวในที่สุด