จังหวัดขอนแก่น คัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2567 มีผู้ประกอบการกลุ่ม OTOP ส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วม 318 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การพัฒนาระดับประเทศ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 ก.ย.2567 ที่ โรงแรมกรีนโฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดขอนแก่น นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2567 (OTOP Product Champion : OPC) ระดับจังหวัด โดยมีนางสาวอัญชนิดา กมลเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น, นางเอกหทัย พนมอุปถัมภ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เข้าร่วมกิจกรรม
นางสาวอัญชนิดา กมลเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย เป็นการจัดระดับผลิตภัณฑ์ในการนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับประเทศ รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยกิจกรรมครั้งนี้มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP นำผลิตภัณฑ์เข้าร่วม จำนวน 318 ผลิตภัณฑ์ จำแนกออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทอาหาร จำนวน 62 ผลิตภัณฑ์ ประเภทเครื่องดื่ม จำนวน 26 ผลิตภัณฑ์ ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 143 ผลิตภัณฑ์ ประเภทของใช้ของตกแต่งและของที่ระลึก จำนวน 72 ผลิตภัณฑ์ และ ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 14 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ในการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ครั้งนี้ในระดับจังหวัด แล้วส่งผลไปคัด ในระดับประเทศต่อไป
“กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) ให้ดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยทุก 2 ปี เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ (Product Level) ที่จะนำไปสู่การพัฒนา (Product Development) จัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Profile) ที่จะใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไปจนสามารถใช้เป็นแหล่งรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์”
พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวอีกว่า จังหวัดขอนแก่น มีผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 3,230 ราย/กลุ่ม จำนวนผลิตภัณฑ์ 6,590 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ได้มีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานในระดับสากล
การดำเนินการในวันนี้เป็นการกลั่นกรองให้ค่าคะแนนส่วน ก ด้านผลิตภัณฑ์และความเข้มแข็งของชุมชนจำนวน 25 คะแนน และส่วน ข ด้านการตลาดและความเป็นมาของผลิตภัณฑ์จำนวน 20 คะแนนระดับจังหวัด แล้วส่งผลิตภัณฑ์เพื่อให้ค่าคะแนนส่วน ค ด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ จำนวน 55 คะแนนในระดับประเทศ