อุดรธานี – บสย. เปิดตัวโครงการ TCG Internal Hackathon ชวนพนักงานรวมพลัง สร้างสรรค์ไอเดีย ยกระดับสู่ “องค์กรแห่งนวัตกรรม”

บสย. เปิดตัวโครงการ TCG Internal Hackathon ชวนพนักงานรวมพลัง สร้างสรรค์ไอเดีย ยกระดับสู่ “องค์กรแห่งนวัตกรรม”

บสย. ประกาศเปิดตัวโครงการ “TCG Internal Hackathon” ในงานประชุมพนักงานทุกระดับครั้งที่ 2/2567 (The 2nd Town Hall Meeting 2024) ชวนพนักงานทุกคน ร่วมประกวดไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ดึงพลังคนรุ่นใหม่ ผสานความเชี่ยวชาญจากผู้มากประสบการณ์ ร่วมพัฒนาต่อยอดองค์กร สร้างความพึงพอใจลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยกระดับ บสย. ก้าวสู่ “องค์กรแห่งนวัตกรรม” เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

 

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประกาศเปิดตัวโครงการ “TCG Internal Hackathon” ยกระดับ บสย. สู่องค์กรแห่งนวัตกรรม ใน งานประชุมพนักงานทุกระดับ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 (The 2nd Town Hall Meeting 2024) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “TCG Smart Gens” สนับสนุนพนักงาน บสย. กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง (Think Innovatively) รวมพลังความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมองค์กรเพื่อขับเคลื่อน บสย. สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ณ The Society อาคารเกษรทาวเวอร์ ชั้น 22 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567


โครงการ “TCG Internal Hackathon” เป็นการจัดประกวดนวัตกรรม เชิญชวนพนักงาน บสย. ร่วมกิจกรรมในรูปแบบทีมๆ ละ 3-5 คน โดยเน้นให้แต่ละทีมมีการผสมผสานของแต่ละเจเนอเรชั่น เพื่อผนึกพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ และความเชี่ยวชาญจากรุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ ร่วมนำเสนอไอเดียเพื่อสร้าง “นวัตกรรมองค์กร” โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การส่งเสริมธุรกิจ (Business Development) และการพัฒนากระบวนการ (Process Improvement) ระยะเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน 2567 ผู้ชนะอันดับที่ 1-3 จะได้รับรางวัลในงาน KM & Innovation Day 2024 เวทีต่อยอดความรู้สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์กรของ บสย. ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

เป้าหมายโครงการนี้ มุ่งจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ตลอดจนพัฒนาต่อยอด และขยายผล เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมในการสร้างและขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร โดยเปิดรับไอเดียของคนรุ่นใหม่ พร้อมสรรหาผู้เชี่ยวชาญจากภายในและแวดวงต่างๆ ภายนอกองค์กร มาช่วยแนะนำในการแปลงไอเดียต่างๆ ให้เป็นนวัตกรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบการทำงานภายใน การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สู่การขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายสิทธิกร กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ และพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. การคิดค้นนวัตกรรม ด้วยการผสานพลังคนรุ่นใหม่ รวมถึงประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา รวมถึงช่วยต่อยอดความสำเร็จของ บสย. เพื่อพิชิตเป้าหมายองค์กรในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกค้ำประกันของ บสย. พร้อมพัฒนา บสย. สู่บทบาทการเป็น Credit Mediator ภายในปี 2568-2569
นอกจากนี้ ภายใต้โครงการประกวดนวัตกรรม “TCG Internal Hackathon” ยังตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ภายใต้ SMEs Digital Gateway ที่มุ่งขยายบทบาทการค้ำประกันผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเชื่อมโยง บสย. กับสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการแต่ละ Platform ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น สะดวกขึ้นผ่านระบบ Online จากการเปิดให้บริการ LINE OA : @tcgfirst ของ บสย. ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้ามาตรวจสุขภาพทางการเงิน พร้อมจองคิวขอรับคำปรึกษาทางการเงิน ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย


“บสย. ต้องการเพิ่มสมรรถนะองค์กรเชิงรุกด้วยพลังคนรุ่นใหม่ เพื่อทำให้เป้าหมายสู่การเป็น SMEs Digital Gateway ประสบผลสำเร็จอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยพลังทีมงานและเพื่อนพนักงานที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง และผู้บริหารทุกฝ่ายงานที่ร่วมกันก้าวข้ามความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยรอบด้าน” นายสิทธิกร กล่าว
ภายในงานยังได้มีการประกาศผลดำเนินงาน บสย. ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ค. 2567) มียอดอนุมัติค้ำประกัน 21,221 ล้านบาท สามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 49,247 ราย ในส่วนของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน ส.ค. จะมียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อกว่า 3,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อกว่า 1,000 ราย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงการตอบรับจากสถาบันการเงินที่พร้อมปล่อยสินเชื่อ ภายใต้การค้ำประกันของ บสย. ทั้งสะท้อนถึงความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ในภาวะเศรษฐกิจผันผวน ที่ต้องการเสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อต้นทุนต่ำ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจ


ส่วนทิศทางในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ บสย. ยังคงมุ่งมั่นสานต่อภารกิจ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. ช่วยเติมทุน เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับตัว และต่อยอดธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน