ชัยภูมิ (รายงานพิเศษ) “วงแหวนคลองทางเลี่ยงเมืองพระยาแล” อีกแผนการป้องกันน้ำท่วมของชลประทานชัยภูมิ

ชลประทานชัยภูมิ ผุดโครงการบรรเทาอุทกภัยเลี่ยงเมืองชัยภูมิ 4 ระยะ และโครงการวงแหวนน้ำควบคู่ถนนเลี่ยงเมือง เพื่อเป็นคลองรับน้ำป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองชัยภูมิ และยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร

  

แม่น้ำชี  ถือเป็นต้นกำเนิดเกิดจากจังหวัดชัยภูมิ และยังมีลำน้ำสาขาหลายสายที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำชี  ลำคันฉู ลำปะทาว ลำน้ำพรม และลำน้ำเชิญ มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 2,532 ล้านลูกบาศก์เมตร 

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดชัยภูมิ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง จำนวน 14 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำได้ ความจุรวม 383 ล้านลูกบาศก์เมตร

 ในส่วนของเทศบาลเมืองชัยภูมิ มีลักษณะเป็นคอขวด เกิดน้ำท่วมเนื่องจากปริมาณน้ำหลากจากลุ่มน้ำลำปะทาวมีปริมาณมาก ประกอบกับได้รับอิทธิพลน้ำหนุนจากลำหัวยชีลอง และลุ่มน้ำห้วยยางบ่า นอกจากนี้ระบบระบายน้ำพื้นที่เทศบาลเมืองชัยภูมิยังไม่เพียงพอกับการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ไหลท่วมทุ่งลำห้วยกล่ำน้อยของอำเภอคอนสวรรค์ ก่อนไหลลงไปจังหวัดขอนแก่น

พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตจังหวัดชัยภูมิส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำชี เกิดจากปริมาณน้ำหลาก ไหลผ่านพื้นที่เป็นจำนวนมาก จนเกินความสามารถในการระบายน้ำ ในการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาแก้ปัญหาอุทกภัย และภัยแล้ง ประกอบด้วยโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 5 แห่งในจังหวัดชัยภูมิ คือ

   อ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความจุ 46.90 ล้าน ลบ.ม. สามารถกักเก็บน้ำในปี 2569

   อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร ความจุ 43.70 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ เริ่มกักเก็บน้ำได้ในปี 2566

   อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความจุ 70.21 ล้าน ลบ.ม. สามารถกักเก็บน้ำในปี 2570

   อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) ความจุ 33.45 ล้าน ลบ.ม. สามารถกักเก็บน้ำในปี 2570

   อ่างเก็บน้ำลำเจียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความจุ 45.17 ล้าน ลบ.ม. สามารถกักเก็บน้ำในปี 2568 

ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 5 โครงการ จะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 239 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 188,000 ไร่

 

โครงการบรรเทาอุทกภัยเลี่ยงเมืองชัยภูมิ

กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำ พบว่า น้ำที่ไหลผ่านเข้าตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิ รวมประมาณ 325 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่มีศักยภาพการระบายน้ำเพียง 145 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงมีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ก่อสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย การขุดขยายคลองผันน้ำลำปะทาว ถึงแก้มลิงสระเทวดา ยาว 8.45 กิโลเมตร พร้อมด้วยประตูระบายน้ำ 3 แห่ง การขุดขยายคลองเชื่อมลำปะทาว –ห้วยดินแดง ยาว 1.33 กิโลเมตร และปรับปรุงคลองเดิม  พร้อมประตูระบายน้ำ 1  แห่ง และสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบ ในลำน้ำเดิมอีก 6  แห่ง เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันออกให้ได้ 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เหลือปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมือง 125 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

ระยะที่ 2 พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อชะลอน้ำหลาก ให้อยู่ในปริมาณที่บริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น 

ระยะที่ 3 ก่อสร้างระบบผันน้ำห้วยยางบ่า – ลำชีลอง เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันตก

ระยะที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลาก ให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยกรมชลประทานได้รับอนุมัติ ให้ดำเนินการระยะที่ 1 ก่อน  แผนโครงการเริ่มก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2562 ถึง พ.ศ. 2567 ส่วนโครงการอีก 3 ระยะที่เหลือ อยู่ในขั้นตอนศึกษาความเหมาะสม

  โครงการวงแหวนน้ำ

โครงการนำเสนอวงแหวนน้ำควบคู่ถนนเลี่ยงเมืองชัยภูมิจากสภาพปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิที่เป็นแหล่งรับน้ำจากลำน้ำหลายสาขาและรองรับการขยายตัวของเขตเมืองจึงมีความต้องการให้ศึกษาโครงการวงแหวนน้ำควบคู่ถนนเลี่ยงเมืองระยะทาง 52 กิโลเมตรแก้ไขปัญหาการจราจรใช้คมนาคมเป็นเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชัยภูมิได้สะดวกยิ่งขึ้นและสามารถใช้คลองระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรหรือระบายน้ำเพื่อตัดยอดน้ำที่จะไหลเข้าสู่เขตเมืองชัยภูมิได้อีกด้วย