ศรีสะเกษ (ชมคลิป) “สายมู” แห่เที่ยว “คำชะโนดอีสานใต้” ขอพร ปู่ศรีสุทโธ ย่าศรีปทุมมา พญานาคตนใหญ่ลายเกล็ดดอกลำดวน เชื่อให้โชคสมดังหวัง

สายมูตาลุกวาว แห่เที่ยวคำชะโนดอีสานใต้ ขอพร ปู่ศรีสุทโธ-ย่าศรีปทุมมา พญานาคตนใหญ่ลายเกล็ดดอกลำดวน เชื่อให้โชคสมดังหวัง

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดลุมพุกอุดมพนาราม ต.โคกตาล อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ หรือชาวบ้านขนานนามว่า “คำชะโนด อีสานใต้” มีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่ทั่วประเทศ แห่เดินทางมาทำบุญ ท่องเที่ยว สัมผัสความร่มรื่นของบรรยากาศอันมีมนต์ขลังในพื้นที่วัดแห่งนี้เป็นจำนวนมาก อย่างไม่ขาดสาย บางคนเดินทางมาเพื่อขอโชคลาภ บนบานสานกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จ หน้าองค์พระสมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องมหาจักรพรรดิ ที่ศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานภายในศาลาการเปรียญหลังใหญ่ รวมทั้งพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้กันเกราหรือไม้มันปลาเป็นไม้มงคล เพื่อขอพรด้านความสำเร็จ จากนั้นกราบพระประจำวันเกิด เชื่อว่าจะสามารถกำจัดสิ่งไม่ดีออกจากชีวิตและเสริมความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเรือนเจ้าแม่ตะเคียนทองสามพี่น้อง และชมต้นไทรมงคล ต้นไทรอายุมากกว่า 100 ปี ที่มีความเชื่อว่าถ้าเอาผ้าแดงไปผูกจะช่วยเสริมชะตาชีวิตให้อายุยืนยาวเหมือนดั่งต้นไทร ตามความเชื่อส่วนบุคคล

และจุดไฮไลต์ที่มีความวิจิตรอลังการ ทั้งความสวยงามเข้มขลังและการล่ำลือด้านความศักดิ์สิทธิ์ ของผู้ที่มีความเชื่อด้านสายมู หรือสายญาณพญานาค ภายในบริเวณวัดจะพบ พญานาคสองตน คือพญาศรีสุทโธนาคราช หรือเจ้าปู่ศรีสุทโธ สีเขียวเข้มมีขนาดความยาว 89 เมตร และนางพญานาคิณีศรีปทุมมา หรือเจ้าย่าศรีปทุมมา สีเขียวอ่อน ขนาดความยาว 79 เมตร ถ้าได้เดินลอดช่องท้องลำตัวของพญานาคทั้งสองตนนี้ มีความเชื่อว่า จะพ้นทุกข์พ้นโศกมีแต่โชคดี และที่มีความสวยสะดุดตาคือเกล็ดของพญานาคหนึ่งตน นางพญานาคิณีศรีปทุมมา คือเป็นเกล็ดลายดอกลำดวนสีเหลืองทอง จำนวนนับพันดอกทอดยาวทั้งลำตัว ซึ่งดอกลำดวน เป็นดอกไม้ที่เป็นอัตลักษณ์ประจำจังหวัดศรีสะเกษ

พระอธิการสมโชค คัมภีรธัมโม (หลวงพ่อจอย) เจ้าอาวาส เปิดเผยว่า วัดลุมพุกอุดมพนาราม เริ่มสร้างเป็นที่พักสงฆ์ก่อนปี 2500 เดิมวัดชื่อว่า “วัดบ้านลุมพุก” ตามชื่อ “หมู่บ้านลุมพุก” ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนตามหน่วยงานพระพุทธศาสนาที่ไม่ต้องการให้เอาคำว่า “บ้าน” นำหน้าคำว่า “วัด” เลยได้ตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดลุมพุกอุดมพนาราม” โดยจากเดิมสมัยก่อนดินแดนบริเวณนี้เป็นสถานที่ป่ารกร้าง มักมีชาวเขมรที่มีอาคมมาตั้งชุมเสือหรือชุมโจรตามการบอกเล่า ซึ่งที่มาของคำว่า “ลุมพุกอุดมพนาราม” ถอดจากภาษาเขมร “ลุมพุก” คือ “ลุมปะกะ” ไม่ได้หมายความว่า ต้นลุมพุกอย่างเดียว แต่หมายถึงชุมเสือหรือชุมโจร “อุดม” คือ “อุตะมะ” ความอุดมสมบูรณ์ หากเปรียบกับชุมเสือหรือชุมโจรก็คือโจรกลับใจ ด้วยภาพเหมือนและ “พนาราม” คือ “วะเนียเรียม” ป่าอุดมสมบูรณ์ เลยเป็นที่มาของชื่อ วัดลุมพุกอุดมพนาราม ก่อนจะมาเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน เป็นวัดที่รกร้าง มีพระมาอยู่พักปฏิบัติธรรมแต่ก็อยู่ได้ไม่นาน มีหัวหน้าที่พักสงฆ์ดูแลรวม 13 องค์ จนอาตมาได้เข้ามาดูแลและพัฒนาวัด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2534 และอาตมาเองเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดลุมพุกอุดมพนาราม จนถึงปัจจุบัน

พระอธิการสมโชค คัมภีรธัมโม (หลวงพ่อจอย) เจ้าอาวาส กล่าวต่อไปอีกว่า เดิมทีไม่ได้มีความคิดว่าจะสร้างพญานาคแต่อย่างใด จะสร้างเพียงน้ำตก ปรับภูมิทัศน์ด้านข้างศาลาเท่านั้น หลังสร้างน้ำตกแล้ว เกิดมีนิมิตฝันเห็นพญานาคมาเข้าฝันหลายครั้ง เป็นพญานาคสององค์เลื้อยเกี้ยวพันกันขนาดใหญ่ 30-40 เมตร จึงคิดว่าเพราะอะไรถึงฝันหลายครั้ง อยากให้มีการสร้างพญานาคหรือเปล่า จึงได้มาจุดธูป 108 ดอก เพื่ออธิษฐานว่าหากอยากให้สร้างกายหยาบให้ ให้มาบอกว่าต้องการให้สร้างพญานาคองค์ไหน เพราะในสายญาณพญานาคนั้นมีมากมายหลายองค์หลายตระกูล ไม่สามารถสร้างได้หมด ขอเพียงตัวเอกเพียงสององค์ จึงเกิดขนลุกและแว็บขึ้นมาว่าเป็น เจ้าปู่ศรีสุทโธ และ เจ้าย่าศรีปทุมมา และคำว่า คำชะโนดอีสานใต้ ก็ผุดมา ณ ตอนนั้นเลย และที่มีจุดเด่นไม่เหมือนใคร องค์พญานาคเจ้าย่าศรีปทุมมา เกล็ดเป็นเกล็ดดอกลำดวน ที่มีความคิดแต่แรกเริ่มแล้วว่า จะทำอย่างไรให้รู้ว่าที่นี่คือจังหวัดศรีสะเกษ จึงมีการนำดอกลำดวนประดับที่เกล็ดในลำตัว เปรียบเสมือนเป็นลายผ้านุ่งผ้าซิ่นขององค์พญานาค

ทั้งนี้ ที่วัดลุมพุกอุดมพนาราม แห่งนี้ เป็นวัดเพื่อให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม มาดูความสวยงาม มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้มาศึกษา ทั้งธรรมะ และด้านความเชื่อจากความศรัทธา ทุกๆวันพระ จะมีการจัดพิธีสวดมนต์ ถวายภัตตาหาร ฟังธรรมเทศนา คนเฒ่าคนแก่ พาลูกหลานที่เป็นเด็กและวัยรุ่น มาเข้าวัดมาทำบุญกันเป็นประจำ เพื่อให้เกิดศรัทธาและสำนึกในความสำคัญของพระพุทธศาสนา เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและหลักธรรมอย่างถูกต้อง.


ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน